mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,968,442
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! การนอนตะแคงขวา ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หลีกเลี่ยงโรคสมองเสื่อม

ตามที่มีคำแนะนำเผยแพร่บนสื่อออนไลน์เรื่องการนอนตะแคงขวา ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หลีกเลี่ยงโรคสมองเสื่อม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อความที่ปรากฏนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีผู้โพสต์คลิปวิดีโอให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับการนอนตะแคงขวา ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หลีกเลี่ยงโรคสมองเสื่อม ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมีข้อมูลว่าสัมพันธ์กับการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ได้แก่โปรตีนอะไมลอยด์เบต้า (amyloid-beta) และโปรตีนเทาว์ (tau) ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นขยะสะสมในสมองได้ ดังนั้นเป้าหมายในการป้องกันโรควิธีหนึ่งคือวิธีกระตุ้นการกำจัดขยะเหล่านี้ ผ่านระบบที่เรียกว่า glymphatic system ซึ่งมีข้อมูลสนับสนุนว่า การนอนหลับที่ดี ระยะเวลาเพียงพออย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดช่วงการนอนหลับลึกเป็นคลื่นความถี่ต่ำ (slow wave sleep) ได้มาก จะช่วยกำจัดโปรตีนที่ผิดปกติเหล่านี้ออก และชะลอความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าท่านอนตะแคง จะสัมพันธ์กับการกระตุ้น glymphatic system นี้แต่อย่างใด เนื่องจากสมองมีระบบหลอดเลือดแดงและดำที่สมมาตรกันสองด้านอยู่แล้ว ทำให้กระบวนการไหลเวียนเลือดในสมองในคนสุขภาพดีปกติ สามารถดำเนินไปได้ทั้งสองด้าน ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นโดยการหันหรือตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง การนอนตะแคงหรือนอนหงายจึงไม่มีผลในด้านความแตกต่างต่อทั้งคุณภาพการนอนหลับ และการกำจัดขยะในสมอง เพียงแค่แต่ละคนอาจจะมีสภาพร่างกายที่เหมาะสมกับการนอนหลับที่แตกต่างกันเท่านั้น เช่น ผู้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับอาจไม่ควรนอนท่าคว่ำ ผู้ที่มีกระดูกร้าวหรือเคลื่อนอาจไม่ควรนอนตะแคงทับในข้างที่เคลื่อน เป็นต้น

website 2475

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือ โทร. 02-306-9899

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การนอนตะแคงขวาไม่ได้ชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่การนอนหลับให้เพียงพอ หลับให้ได้ลึก มีสุขอนามัยการนอนที่ดี มีประโยชน์มากกว่าต่อการป้องกันโรคสมองเสื่อม

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด