อย่าเพิ่งตกใจไป เมื่อเจอข้อมูลที่ระบุว่า โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดต่อได้ง่าย แพร่เชื้อเร็ว อาการคล้ายไข้หวัด ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า มีข้อมูลบางส่วนไม่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้สายพันธุ์ JN.1 (เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง: VOIs ตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2567 ถึงปัจจุบัน) ไม่มีอัตราการได้เปรียบในการเติบโต (Relative growth advantage) โดยสัดส่วนการแพร่กระจายค่อนข้างคงที่และไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (อ้างอิงฐานข้อมูล CoV-spectrum ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2568)
ขณะนี้ทั่วโลก พบจำนวน 492,443 ราย จาก 134 ประเทศ สถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ในไทย ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบสะสมมากที่สุด (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 – เมษายน 2568) จำนวนทั้งหมด 1,479 ราย คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 63.92 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่า สายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มคงที่ในไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2568 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกที่ยังคงมี JN.1 เป็นสายพันธุ์หลักและมีอัตราการแพร่กระจายคงที่ โดยขณะนี้ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น และมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับบุคคล อัตราการได้เปรียบในการแพร่กระจายคงที่ เป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่า การติดต่อและการแพร่เชื้อไม่ได้มีอัตราการแพร่กระจายเร็วขึ้นอย่างที่กล่าวอ้าง
ปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จากห้องปฏิบัติการฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งช่วยส่งเสริมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการรับมือในอนาคต โดยประเทศไทยเผยแพร่ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมสะสม ในฐานข้อมูลกลาง GISAID จำนวน 47,571 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2568) นับตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทย
ข้อมูลนี้บิดเบือน AFNC ตรวจสอบให้แล้ว