จริงหรือไม่? 22 จังหวัด ที่มีความปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว เช่น จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น ทางกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง (active faults) กระจายตัวอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวน 16 กลุ่มรอยเลื่อนที่พาดผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ใน 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน
แต่ไม่ใช่ว่า ทุกจังหวัดหรือพื้นที่ที่รอยเลื่อนพาดผ่านจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแผ่นดินไหวเสมอไป ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แผ่นดินไหว ส่งผลกระทบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การเกิดและความรุนแรงของแผ่นดินไหวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของแผ่นดินไหวหรือตัวเลขที่วัดพลังงานที่ปลดปล่อยจากจุดศูนย์กลาง ความลึกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นระดับตื้นจะส่งผลแรงกว่าที่ลึก ระยะห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว พื้นที่ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวก็จะรับรู้แรงสั่นสะเทือนเบากว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้ สภาพดินและโครงสร้างใต้ดินของพื้นที่นั้น ในพื้นที่ที่มีดินอ่อนจะรับรู้สั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่ที่เป็นหินแข็ง
ทั้งนี้ รายชื่อ 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ดังนี้
ภาคเหนือ
กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน – พาดผ่านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่
กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง – พาดผ่านเชียงราย
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว – พาดผ่านจังหวัดเชียงราย
กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง – พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา – พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย
กลุ่มรอยเลื่อนเถิน – พาดผ่านจังหวัดลำปาง แพร่
กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา – พาดผ่านจังหวัดพะเยา เชียงราย ลำปาง
กลุ่มรอยเลื่อนปัว – พาดผ่านจังหวัดน่าน
กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ – พาดผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์
ภาคกลางและตะวันตก
กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ – พาดผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน – พาดผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก
กลุ่มรอยเลื่อนเมย – พาดผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร
กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ – พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี
กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ – พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร
ภาคใต้
กลุ่มรอยเลื่อนระนอง – พาดผ่านจังหวัดระนอง ชุมพร พังงา ประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย – พาดผ่านจังหวัดกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต
รู้ทันข่าวลวง AFNC เช็กให้แล้ว