mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,073,374
</p>

พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง ให้ระวังผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง ให้ระวังผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทย ระหว่างปี 2560 – 2562 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะในช่วงต้นปี (เดือนมกราคมถึงเมษายน) และปลายปี (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม) และจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 พบว่าค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง จำนวน 15 สถานี อยู่ระหว่าง 22-69 มคก./ลบ.ม (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยคาดว่าในช่วงนี้ (วันที่ 12-18 ธ.ค. 64) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองจากฝุ่น เช่น ผื่นคัน ตาอักเสบ ไอ จาม เจ็บคอ บางรายอาจมีเลือดกำเดาไหล เป็นต้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) และระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ควรลดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ และโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน และตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง สวมแว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่นด้วย และขอความร่วมมือประชาชนให้งดการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยติดตามสถานการณ์ค่า PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะประชาชนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจติดขัด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด