mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,046,435
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! เนื้อแพะช่วยรักษาผู้เป็นหอบหืดเรื้อรัง ไตอ่อนแอ และผู้มีอาการเจ็บปวดตามตัว

ตามที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง เนื้อแพะช่วยรักษาผู้เป็นหอบหืดเรื้อรัง ไตอ่อนแอ และผู้มีอาการเจ็บปวดตามตัว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย หน่วยงานสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการพูดถึงสรรพคุณของเนื้อแพะว่า มีฤทธิ์อุ่น ช่วยรักษาผู้เป็นหอบหืดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ไตอ่อนแอ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการเจ็บปวดตามตัวเพราะลมหนาว ทางหน่วยงานสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เนื้อแพะ เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีปริมาณกรดไขมันรวม กรดไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลที่ต่ำกว่าเนื้อแดงชนิดอื่น ๆ (เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อควาย ฯลฯ) นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และโพแทสเซียมอีกด้วย โดยบทบาทของโปรตีนมี ดังนี้
1. ช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมและสร้างโปรตีนส่วนที่ใช้หมดไปอยู่ตลอดเวลา ควบคุมระบบชีวเคมี ภายในร่างกาย การได้รับโปรตีนไม่เพียงพอทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้าลงและเจ็บป่วยง่าย
2. เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ฮอร์โมน ฮีโมโกลบิน สารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด สารภูมิคุ้มกัน เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน
3. เป็นตัวขนถ่ายอาหารจากผนังลำไส้เข้าสู่กระแสโลหิต และขนส่งไปทั่วร่างกาย
4. ควบคุมสมดุลน้ำภายนอกและภายในเซลล์
5. ทำหน้าที่รักษาดุลกรด-ด่างในเลือด
6. ป้องกันร่างกายและทำลายสารพิษ
ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าเนื้อแพะสามารถรักษาผู้เป็นหอบหืดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ไตอ่อนแอ หรืออาการเจ็บปวดตามตัวได้

ทั้งนี้ การบริโภคเนื้อแดงมากเกินไป มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความผิดปกติของระบบเผาผลาญ (ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็งตัว โรคอ้วน และมะเร็ง) การได้รับโปรตีนสูงเกินความจำเป็นจะทำให้ตับและไตทำงานหนักเพื่อกำจัดสารยูเรีย และยังทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรุงประกอบอาหารโดยใช้ความร้อนสูงมาก จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้เนื้อแดง (red meat) ยังจัดเป็นอาหารที่ย่อยยากเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ที่เรียกว่าเนื้อขาว (white meat) เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา เป็นต้น กองทุนวิจัยมะเร็งโลก พ.ศ. 2558 แนะนำการบริโภคเนื้อแดงไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ (ประมาณ 5 ช้อนกินข้าวต่อวัน) และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เลือกการปรุงประกอบอาหารด้วยวิธี ต้ม นึ่ง ตุ๋น อบ ย่าง ยำ เน้นกินอาหารให้มีความหลากหลายมีสัดส่วนปริมาณเพียงพอและเหมาะสม

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหน่วยงานสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nutrition.anamai.moph.go.th หรือโทร 02-5904332

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าเนื้อแพะสามารถรักษาผู้เป็นหอบหืดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ไตอ่อนแอ หรืออาการเจ็บปวดตามตัวได้ อีกทั้งการบริโภคเนื้อแดงมากเกินไปมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคเพิ่มขึ้น

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : หน่วยงานสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด