mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,007,042
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! สาวอายุ 29 ปี กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สาเหตุจากฉีดวัคซีนซิโนแวค

ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง สาวอายุ 29 ปี กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สาเหตุจากฉีดวัคซีนซิโนแวค ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีหญิงสาววัย 29 ปี ที่กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคนั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า กรณีหญิงรายดังกล่าว ที่มีเลือดออกในสมอง สาเหตุเกิดจากภาวะผิดปกติกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำ (AVM) ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

โดยคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน (Adverse Events Following Immunization : AEFI) ได้พิจารณากรณีหญิง อายุ 29 ปี จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอาการเลือดออกในสมอง โดยมีประวัติรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเมื่อ 2 วันก่อนเกิดอาการ ขณะนี้รับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งจากรายงานการสอบสวนโรค และภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวมีภาวะผิดปกติที่มีกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำในสมอง (Arteriovenous malformation) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติมาแต่กำเนิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ มักมาพบแพทย์และตรวจพบเมื่อหลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้แตก ซึ่งอาการจะขึ้นกับตำแหน่งที่มีการแตกของหลอดเลือดในสมอง หรืออาจมี ชัก ปวดศีรษะ ร่วมด้วยได้ ในคนทั่วไปพบภาวะนี้ได้ประมาณ 10-18 รายต่อประชากรแสนคน และบุคคลที่มีความผิดปกติดังกล่าว มีโอกาสที่จะเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการพิการหรือเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้

สำหรับผู้ป่วยรายนี้ จากผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบภาวะเลือดออกในสมอง และตรวจพบความผิดปกติที่กลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำที่สมอง ซึ่งมักเป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิด ความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ จึงสรุปว่า สาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าวเป็นจากรอยโรคเดิมที่เป็นอยู่ทำให้มีเลือดออกในสมอง และไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญภายหลังการได้รับวัคซีน (Coincidental event)

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และวิธีการป้องกันตนเอง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทร. 1422

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : กรณีหญิงรายดังกล่าว ที่มีเลือดออกในสมอง สาเหตุเกิดจากรอยโรคเดิม ที่มีภาวะผิดปกติกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำ (AVM) ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด