mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,046,435
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! สมุนไพรหนามแท่ง ใช้รักษาโรคมะเร็ง

ตามที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สมุนไพรหนามแท่ง ใช้รักษาโรคมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากคำแนะนำผู้ป่วยโรคมะเร็งว่าให้ใช้สมุนไพรหนามแท่ง ในการรักษานั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าหนามแท่งหรือเชื้อราดังกล่าวสามารถสร้างสารที่สามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ มีเพียงการศึกษาเบื้องต้น ถึงชนิดของเชื้อราเอนโดไฟท์ที่เจริญเติบโตบนเนื้อเยื่อพืชที่มีชีวิต ซึ่งพบว่าราเอนโดไฟท์ Biporalis sp. Ctom 12 ที่แยกจากหนามแท่งสร้างสาร radicinin ที่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง เช่น เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี เซลล์มะเร็งเยื่อบุช่องปาก เซลล์มะเร็งปากมดลูก เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งปอด แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น
โดยหนามแท่ง หรือมะเค็ด (Catunaregam tomentosa (Blume ex DC.) Triveng.) เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ทุกภาคของประเทศไทย มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ไกลโคไซด์ ซาโปนิน และแทนนิน จึงมีการนำลำต้น ใบ ผล และราก มาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้าน ทั้งนี้การนำพืชสมุนไพรมาใช้เพื่อหวังผลทางการรักษา โดยไม่ทราบรายละเอียดด้านสรรพคุณ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาที่เหมาะสม หากผู้ป่วยมะเร็งต้องการใช้ยาสมุนไพรเสริมการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าหนามแท่งหรือเชื้อราดังกล่าวสามารถสร้างสารที่สามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมะเร็งต้องการใช้ยาสมุนไพรเสริมการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด