mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,012,120
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! คนท้องสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพหรือทารกในครรภ์

ตามที่ได้มีการส่งต่อข้อความในสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง คนท้องสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพหรือทารกในครรภ์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการส่งต่อข้อมูลที่ระบุว่า คนท้องสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้ ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์นั้น ทางทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในประเทศไทยพบมีการใช้ใบกระท่อมมีหลายรูปแบบ เช่น บดเป็นผง ละลายน้ำดื่ม หรือเคี้ยวใบสด นิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด เคี้ยวเหลือแต่กากแล้วคายออกหรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทน ตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย ซึ่งเป็นการใช้แบบวิถีชุมชน และตามภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท โดยหมอพื้นบ้าน จะนำส่วนของเปลือกและใบกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาแก้ท้องร่วง ปวดท้อง ลดอาการปวดบิดถ่ายเป็นเลือด ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคผิวหนัง โดยการเคี้ยวใบกระท่อมที่แกะก้านใบออก อาจกลืนหรือคายกาก แล้วดื่มน้ำตาม

ซึ่งสารเสพติดที่พบในใบกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า พบข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยจากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับผลลัพธ์ของมารดาและทารกที่ได้รับกระท่อมก่อนการคลอด โดยกลุ่มมารดาที่ใช้กระท่อมระหว่างตั้งครรภ์ 6 ราย ช่วงอายุ 37-39 ปี ซึ่งมีเหตุผลการใช้ที่ต่างกันออกไป เช่น ใช้เพื่อการลดอาการปวด ลดความวิตกกังวล บรรเทาอาการถอนยากลุ่ม Opioid และใช้เพื่อมีผลคล้ายกลุ่ม Opioid จากผลการวิเคราะห์พบว่า 6 กรณีศึกษาที่ได้รับกระท่อมก่อนคลอดมีอาการแสดง โดยมารดาและทารกมีอาการถอนยากระท่อม ซึ่งได้รับกระท่อมรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น บางรายดื่มชากระท่อม เป็นเวลา 3-4 ครั้งต่อวัน , บางรายดื่มชากระท่อมเป็นประจำทุกวัน บางรายใช้กระท่อมเป็นประจำทุกวัน ขนาด 18 – 20 กรัม ฯลฯ อาการของมารดาที่มีอาการถอนยาจากกระท่อมจะแสดงอาการวิตกกังวล ขนลุกกระสับกระส่าย เหงื่อออกมาผิดปกติ ในส่วนของทารก 5 ราย พบอาการขาดยาในทารก (Neonatal Abstinence Syndrome : NAS) ที่มารดาใช้สารเสพติดประเภท เฮโรอีน และกลุ่มบรรเทาอาการปวดหรือยาแก้ปวด ซึ่งมีอาการหายใจหอบ เร็ว ถ่ายเหลว อาเจีย ตัวสั่น เกร็ง เป็นต้น ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความซับซ้อนของกระท่อมต่อการเกิดอาการถอนยา (Wright,2021) และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาการใช้น้ำกระท่อมใหญิงตั้งครรภ์ที่แน่ชัด หากหญิงตั้งครรภ์ที่มีความประสงค์ใช้กระท่อมควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารก

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : มีการพบรายงานผลลัพธ์ของมารดาและทารกที่ได้รับกระท่อมก่อนการคลอดว่าส่งผลต่อเด็กในครรภ์ทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการถอนยา แต่ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความซับซ้อนของกระท่อมต่อการเกิดอาการถอนยา หากหญิงตั้งครรภ์ที่มีความประสงค์ใช้กระท่อมควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารก

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด