mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,922,671
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! การไอเป็นปฏิกิริยาระบายพิษออกจากปอด เนื่องจากปอดเกิดภาวะคั่งพิษ

ตามที่มีข้อมูลปรากฏในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการไอเป็นปฏิกิริยาระบายพิษออกจากปอด เนื่องจากปอดเกิดภาวะคั่งพิษ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสังคมออนไลน์ที่ระบุว่า การไอเป็นปฏิกิริยาระบายพิษออกจากปอด การไอจึงเป็นสภาวะปกป้องปอดเนื่องจากปอดเกิดภาวะคั่งพิษ ทางสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า อาการไอเป็นกลไกการป้องกันของร่างกายในการกําจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจ โดยอาการไอจะเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง และส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมการไอในสมองจนกระตุ้นให้เกิดการไอ

นอกจากนี้สาเหตุของอาการไอมีได้หลายสาเหตุ อาจแบ่งตามระยะเวลาการไอได้ 2 แบบ ดังนี้
1. ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด, โพรงไซนัสอักเสบ, คออักเสบ, หลอดลมอักเสบ, อาการกําเริบของโรคถุงลมโป่งพอง, ปอดอักเสบ หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ เป็นต้น
2. ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอนานกว่า 8 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, โรคภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง, โรคหอบหืด, โรคกรดไหลย้อน, มะเร็งปอดเนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง และโรควัณโรคปอด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของการไอ แพทย์จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น เอกซเรย์ปอด, การตรวจเสมหะ, การตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อการรักษาที่ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.ccit.go.th/ หรือโทร 02-547-0999

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : อาการไอเป็นกลไกการป้องกันของร่างกายในการกําจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด