mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,966,505
</p>

ข่าวบิดเบือน
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ข่าวบิดเบือน ฟักแม้ว ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบ

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อง ฟักแม้ว ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

กรณีที่มีการโพสต์ให้ข้อมูลในสื่อต่างๆ ระบุว่า ฟักแม้ว ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบ ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวและชี้แจงว่า

ฟักแม้ว หรือ มะระหวาน หรือ ซาโยเต้ (Chayote) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sechium edule (Jacq) Swartz. วงศ์ CUCURBITACEAE ต้นฟักแม้ว มีถิ่นกำเนิดในทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกและแถบอเมริกากลาง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกทั่วโลก ในประเทศไทยนิยมปลูกทางภาคเหนือ สามารถนำยอดอ่อน ผลอ่อน มาประกอบอาหาร เนื่องจากมีรสหวาน กรอบ เป็นเมนูผัดและแกงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ฟักแม้วจัดเป็นเถาไม้เลื้อยคล้ายกับพืชตระกูลแตง แต่มีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่าง เช่น ลักษณะของลำต้น ใบ ยอด และมือจับ คล้ายต้นแตงกวาผสมฟักเขียว มีระบบรากสะสมขนาดใหญ่ ลำต้นฟักแม้วมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เจริญเป็นเถามีความยาวประมาณ 15-30 ฟุต มีเถาแขนง 3-5 เถา มีมือเกาะเจริญที่ข้อ ดอก มีสีขาวปนเขียว เกิดตามข้อระหว่างต้นกับก้านใบ ดอกออกเป็นช่อ เป็นประเภทไม่สมบูรณ์เพศ หรือดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ผล เป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นทรงกลมยาว มีสีเขียวอ่อนรูปร่างคล้ายลูกแพร์ ผลมีความยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร หนึ่งผลมีน้ำหนักราว 200-400 กรัม

จากการศึกษาวิจัย ผลของน้ำฟักแม้ว (Sechium edule ) ต่อการลดความดันโลหิตในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ราย พบว่า น้ำฟักแม้วช่วยลดความดันโลหิตซิสโตลิก (ความดันสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัว) 30 มม.ปรอท. และความดันโลหิตไดแอสโตลิก (ความดันต่ำสุดขณะที่หัวใจคลายตัว) 10 มม.ปรอท.

ผลของสารสกัดฟักแม้ว (Sechium edule ) ต่อความดันโลหิตในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความดันโลหิตสูง โดยศึกษาจากหญิงตั้งครรภ์จำนวน 20 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม 10 คน และกลุ่มทดลอง 10 คน พบว่า ความดันโลหิตซิสโตลิก (ความดันสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัว) และความดันโลหิตไดแอสโตลิก (ความดันต่ำสุดขณะที่หัวใจคลายตัว) ก่อนและหลังได้รับสารสกัดฟักแม้วมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่า การบริโภคฟักแม้วสามารถช่วยลดความดันโลหิตในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความดันโลหิตสูงได้

เนื่องจากฟักแม้วหรือมะระหวาน (Sechium edule) แม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เกี่ยวกับฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต แต่ยังเป็นวิจัยในกลุ่มเล็กๆ ยังไม่มีการควบคุมการวิจัยที่สามารถลดอคติของการวิจัยว่าผลการลดความดันโลหิตอาจมาจากสาเหตุอื่น ดังนั้นควรรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าฟักแม้วหรือมะระหวานช่วยลดความดันโลหิตได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฟักแม้วหรือมะระหวานเป็นอาหาร สามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารสำหรับดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคอื่นๆ ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ การใช้สมุนไพรสำหรับลดความดันโลหิต ควรปรึกษาหรือตรวจ วินิจฉัย แพทย์แผนไทย เภสัชกร หรือแพทย์แผนปัจจุบัน ทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : แม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เกี่ยวกับฤทธิ์ของฟักแม้ว ช่วยลดความดันโลหิตได้จริง แต่ยังเป็นวิจัยในกลุ่มเล็กๆ ยังไม่มีการควบคุมการวิจัยที่สามารถลดอคติของการวิจัยว่าผลการลดความดันโลหิตอาจมาจากสาเหตุอื่น ดังนั้นควรรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าฟักแม้วหรือมะระหวานช่วยลดความดันโลหิตได้หรือไม่

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด