ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 14.37 ล้านคน คิดเป็น 21.87% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุใช้บริการผู้ป่วยนอกกว่า 68.9 ล้านครั้ง และเข้าใช้บริการในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่า 2% หรือประมาณ 1.8 ล้านครั้งต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุอีกมากที่มีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จึงได้พัฒนา “รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่” นำบริการสาธารณสุขออกไปถึงชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประมาณการว่าใน 1 ปี รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ 1 คัน จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุได้ถึง 12% หรือ 21,600 คน ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ส่งเสริมการป้องกันโรค และสนับสนุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาระของโรงพยาบาล และลดภาระของประชาชนในการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล
รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่มี 6 บริการหลัก ได้แก่ 1.การตรวจรักษา ติดตาม ให้คำปรึกษาด้านโรค NCDs ภาวะสมองเสื่อมและภาวะหกล้ม 2.ตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก 3.ให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-Consult) โดยทีมสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ 4.ตรวจสุขภาพเบื้องต้น (วัดความดัน ตรวจเบาหวาน ชั่งน้ำหนัก ฯลฯ) 5.ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและกิจกรรมพัฒนาร่างกาย และ 6.ฉีดวัคซีนและเวชภัณฑ์เบื้องต้น ซึ่งในการเปิดตัวรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ครั้งนี้ มีกิจกรรมให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุและผู้สนใจ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้แทนเขตสุขภาพที่ 4 ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการนำรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ไปให้บริการประชาชน