เป็นการให้ความรู้ที่บิดเบือนข้อมูล เนื่องจากขนาดต้นขา สะโพก หรือน่อง ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของโรคในมดลูกหรือรังไข่ ซึ่งความเสี่ยงของโรคในระบบสืบพันธุ์หญิง เช่น ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) หรือ ภาวะมีบุตรยาก มีความสัมพันธ์กับ การสะสมไขมันในช่องท้อง (อ้วนลงพุง) มากกว่าการมีต้นขาหรือสะโพกใหญ่ โดยไขมันในช่องท้อง (visceral fat) ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ การดื้อต่ออินซูลิน และกระตุ้นการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกที่สัมพันธ์กับโรคเหล่านี้ ต้นขาใหญ่หรือน่องใหญ่ อาจเกิดจากกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ไม่ใช่ไขมันเสมอไป และไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้โรค
กล้ามเนื้อต้นขาและน่องแข็งแรง ส่งผลดีต่อสุขภาพและยืดอายุขัย งานวิจัยยืนยันว่า “ผู้ที่มีกล้ามเนื้อขาแข็งแรง มีความเสี่ยงเสียชีวิตต่ำกว่าคนที่มีกล้ามเนื้อน้อย” ไม่ว่าจะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง หรือประชากรทั่วไป
การมีกล้ามเนื้อมากยังช่วยเรื่อง การทรงตัว การเผาผลาญพลังงาน ลดความเสี่ยงเบาหวาน และป้องกันกระดูกพรุน ดังนั้น ไม่ควรตีตราหรือกังวลกับการมีต้นขาหรือน่องใหญ่ โดยเฉพาะหากเกิดจากการออกกำลังกาย ส่งเสริมให้ผู้หญิงออกกำลังกายโดยไม่กังวลเรื่องรูปร่าง รูปร่างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีโครงสร้างที่สะโพกหรือขาใหญ่ตามธรรมชาติ หรือจากการออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งถือเป็น “เรื่องปกติ” และ “ดีต่อสุขภาพ”
ข้อมูลถูกบิดเบือน จากความจริง เชื่อถือไม่ได้