ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใด สนับสนุนว่า บรอกโคลี ถั่ว และกะหล่ำปลี เมื่อต้มแล้วจะมีพิษเทียบเท่าสารหนู เนื่องจาก ผักที่สามารถบริโภคได้ตามปกติ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงในระดับเทียบเท่าสารหนู การรับประทานผักต้มหรือผักนึ่งนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย
แต่อย่างไรก็ตาม ผักบางชนิดอาจมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าเมื่อรับประทานในรูปแบบสดซึ่งต้องใส่ใจในความสะอาดของผักและขั้นตอนการปรุงอาหารอย่างเหมาะสม
สำหรับสารหนู (Arsenic) เป็นธาตุกึ่งโลหะที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดิน หิน แหล่งน้ำ การระเบิดของภูเขาไฟ รวมถึงแหล่งกำเนิดจากมนุษย์ เช่น การเผาถ่านหิน การใช้ปุ๋ย และสารกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืช
การใช้สารหนูในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมบางประเภท อาจทำให้เกิดการปล่อยน้ำเสียที่มีสารหนูปนเปื้อน ซึ่งเมื่อมีฝนตก อาจถูกชะล้างลงสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ดิน แม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทร ส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น ๆ สะสมสารหนูไว้ในร่างกาย และหากมนุษย์บริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป ก็อาจได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายตามไปด้วย
สารหนูที่พบในธรรมชาติมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่:
1. สารหนูอินทรีย์ (Organic Arsenic) มักพบในสัตว์น้ำ เช่น ปลา หรือสัตว์น้ำที่มีเปลือก มีความเป็นพิษต่ำ ร่างกายสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะภายใน 2–3 วัน (ในกรณีได้รับในปริมาณน้อย)
2. สารหนูอนินทรีย์ (Inorganic Arsenic) มักพบในอุตสาหกรรมและในน้ำที่ปนเปื้อน มีความเป็นพิษสูง และถูกจัดให้เป็นสารที่ก่อมะเร็งในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม หากร่างกายได้รับสารหนูในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของสารหนูในร่างกายและนำไปสู่ภาวะพิษเรื้อรังได้
เรื่องสุขภาพอย่าพลาด หลงเชื่อข้อมูลหลอกลวง