ตามที่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเมฆเตือนภัย เครื่องบินเล็ก รถทัวร์ ให้ระวังอุบัติเหตุภายในเดือน พ.ย. 67 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีผู้ให้ข้อมูลระบุว่า เมฆเตือนภัย เครื่องบินเล็ก รถทัวร์ ให้ระวังอุบัติเหตุภายในเดือน พ.ย. 67 ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเมฆมีหลากหลายชนิด ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด
ลักษณะของเมฆ มีดังนี้
เมฆสเตรตัส (Stratus Cloud) เป็นเมฆแผ่นสีเทาที่มีฐานค่อนข้างเรียบ เมฆชนิดนี้ให้น้ำฟ้าประเภทฝนละออง (drizzle) ผลึกน้ำแข็ง (ice prisms) หรือละอองหิมะ (snow grains) ถ้าสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเมฆชนิดนี้ได้ เราจะสามารถเห็นขอบของดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน เมฆชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดวงแสง (Halo) เว้นแต่เมื่อมีอุณหภูมิต่ำมากก็อาจเกิดได้ บางครั้งเมฆชนิดนี้ก็แตกออกจากกัน และบางทีเป็นหย่อม ๆ มองดูรุ่งริ่งคล้ายผ้าขี้ริ้ว
เมฆคิวมูโลนิมบัส(Cumulonimbus Cloud) เมฆก้อนใหญ่หนาทึบเกิดโดยการไหลขึ้นของกระแสอากาศ มีรูปลักษณะคล้ายภูเขาหรือหอสูงมหึมา เป็นเมฆที่แสดงถึงสภาวะอากาศไม่ดีเมื่อก่อตัวเต็มที่ ยอดเมฆเป็นแนวเรียบหรือเป็นร่อง ๆ มีลักษณะเป็นฝอยหรือปุย ซึ่งเกือบจะแบนราบและแผ่ออกไปคล้ายรูปทั่ง (anvil) หรือขนนกขนาดใหญ่ ฐานเมฆต่ำขรุขระรุ่งริ่งคล้ายชายผ้าขี้ริ้วห้อยลงมา มีสีดำมืด อาจจะอยู่กระจัดกระจายหรือรวมกันอยู่ก็ได้ มักมีฝนตกลงมาด้วย น้ำฟ้าที่ตกลงมาในบางครั้งไม่ทันตกถึงพื้นดินก็ระเหยกลายเป็นไอไปเสียก่อน (virga) เมฆชนิดนี้เราเรียกว่า เมฆฟ้าคะนอง
เมฆแอลโตสเตรตัส(Altostratus Cloud) ลักษณะเป็นเมฆแผ่นสีเทา หรือสีน้ำเงินและสีนั้นสดใส เมื่อเมฆนี้อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ไม่มีเยื่อเป็นเส้นอย่างเมฆซีร์โรสเตรตัส เมื่อบังดวงอาทิตย์จะทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีซีดเหมือนดูด้วยกระจกฝ้า ในโซนร้อนเมฆนี้มักเกิดในเวลาที่มีฝนตก
เมฆแอลโตคิวมูลัส (Altocumulus Cloud) เป็นเมฆมีสีขาวหรือสีเทาหรือมีทั้งสองสีจัดตัวเป็นคลื่นหรือเป็นลอนประกอบด้วยก้อนหรือเป็นชั้น มีเงาเมฆ เมฆชนิดนี้มีลักษณะเป็นเกล็ด เป็นก้อนกลม ๆ หรือเป็นก้อนม้วนตัว (roll) ฯลฯ ซึ่งบางครั้งก็มีลักษณะเป็นฝอยหรือเป็นเส้นใยละเอียด (fibrous) อยู่บ้างเป็นบางส่วนหรือบางทีก็กระจัดกระจาย (diffuse) อาจรวมอยู่ด้วยกันหรือไม่รวมกันก็ได้ เมฆนี้ประกอบด้วยอนุภาคเล็ก ๆ เป็นส่วนมาก มีความกว้างปรากฏให้เห็นระหว่าง 1-5 องศา (รองรับมุมกับตา)
เมื่อเมฆที่ตรวจนั้นอยู่สูงเหนือของฟ้ามากกว่า 30 องศา สีของเมฆบอกถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมฆ ซึ่งเมฆเกิดจากไอน้ำลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง เย็นตัวลง และควบแน่นเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ละอองน้ำเหล่านี้มีความหนาแน่นสูง แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องทะลุผ่านไปได้ไกลภายในกลุ่มละอองน้ำนี้ จึงเกิดการสะท้อนของแสงทำให้เราเห็นเป็นก้อนเมฆสีขาว ในขณะที่ก้อนเมฆกลั่นตัวหนาแน่นขึ้น และเมื่อละอองน้ำเกิดการรวมตัวขนาดใหญ่ขึ้นจนในที่สุดตกลงมาเป็นฝน ในระหว่างกระบวนการนี้ละอองน้ำในก้อนเมฆซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีช่องว่างระหว่างหยดน้ำมากขึ้น ทำให้แสงสามารถส่องทะลุผ่านไปได้มากขึ้น ซึ่งถ้าก้อนเมฆนั้นมีขนาดใหญ่พอ และช่องว่างระหว่างหยดน้ำนั้นมากพอ แสงที่ผ่านเข้าไปก็จะถูกซึมซับไปในก้อนเมฆและสะท้อนกลับออกมาน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม การซึมซับและการสะท้อนของแสงนี้ส่งผลให้เราเห็นเมฆตั้งแต่ สีขาว สีเทา ไปจนถึง สีดำ การทรงกลด หรือ เฮโล (อังกฤษ: halo) เป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์ทางทัศนศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ส่วนบน อันเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก ละอองน้ำในชั้นบรรยากาศนี้สามารถเย็นตัวจัดจนกลายเป็นอนุภาคน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อมีแสงมาส่องกระทบก็จะเกิดการหักเหของแสง และเกิดการกระจายเป็นแถบสีรุ้งเหมือนเมื่อแสงผ่านปริซึม แถบสีรุ้งอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพแวดล้อม โดยมากแล้วการหักเหนี้มักทำให้เกิดปรากฏเป็นวงล้อมรอบแหล่งกำเนิดแสงทำมุม 22 องศารอบ ซึ่งจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า พระอาทิตย์ทรงกลด เมื่อเกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์ และอาจเกิดขึ้นกับดวงจันทร์ได้ เรียกว่า พระจันทร์ทรงกลด นอกจากนี้ยังเกิดที่มุม 46 องศาได้ด้วย นอกจากรูปแบบวงกลมแล้วก็ยังอาจเกิดในรูปแบบอื่น ๆ อีก ได้แก่ เสาแสง ซันด็อก
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยเมฆมีหลากหลายชนิด แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด