จากที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการทางพิเศษฯ สร้างทางด่วนใหม่สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
กทพ. เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณ 20,710 ล้านบาท และมีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ (NPV 6,169.75 ล้านบาท, EIRR 14.35%)
รายละเอียดโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระยะทาง 15.8 กม. โดยเส้นทางเริ่มต้นเป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เมื่อผ่านทางแยกศรีนครินทร์ โครงสร้างจะรวมเป็น 4 ช่องจราจร ยาว 8.95 กม. ผ่านจุดตัดถนนร่มเกล้า เชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนลดระดับลงสู่ทางหลวงหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับจุดเข้า-ออกมี 3 จุดหลัก คือ
1. จุดเริ่มต้น (ศรีนครินทร์)
– มีทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง (Loop Ramp และ Directional Ramp) สำหรับเชื่อมถนนศรีนครินทร์, รามคำแหง, และลาดกระบัง
2. ทางเข้า-ออกสุวรรณภูมิ
– มีทางเลี้ยวแบบ Semi Directional Ramp และ Directional Ramp สำหรับการเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
3. จุดสิ้นสุด (ลาดกระบัง)
– ข้ามทางเข้า-ออก ICD ลาดกระบัง ก่อนลดระดับเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 7 และมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงทางบริการให้ขนานกับโครงการ
โครงการนี้ถูกออกแบบให้รองรับการจราจรและเชื่อมโยงพื้นที่รอบ ๆ เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ในส่วนของระบบเก็บค่าผ่านทาง มีทั้งระบบ MTC และ ETC บริเวณทางแยกร่มเกล้า โดยคาดการณ์อัตราค่าผ่านทาง มีดังนี้
– รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท
– รถ 6-10 ล้อ 90 บาท
– รถมากกว่า 10 ล้อ 120 บาท
การปรับค่าผ่านทาง
– ทุก 5 ปี
– รถยนต์ 4 ล้อ เพิ่ม 5 บาท
– รถ 6-10 ล้อ เพิ่ม 10 บาท
– รถมากกว่า 10 ล้อ เพิ่ม 15 บาท
อย่างไรก็ตาม โครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2573 โดยเริ่มก่อสร้างปี 2570 และเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ช่วงปี 2568-2570
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.exat.co.th หรือ โทร. 02-558-9800 สายด่วนศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1356