จำนวนผู้เข้าชม 29,467,336

ข่าวปลอม อย่าแชร์! 14 ลักษณะของเมฆเตือนภัย

ตามที่มีผู้ส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง 14 ลักษณะของเมฆเตือนภัย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีข้อความบ่งชี้ถึง 14 ลักษณะของเมฆเตือนภัย คือหมาพุดเดิ้ล=ระเบิด, จระเข้=การจลาจล, งู,มังกร=โรคระบาด,แรด,ช้า,ฮิปโป, หมี=ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด/สึนามิ, วาฬ= GPS ของต่างดาว, เด็กทารก=วินาศกรรม, เมฆกลม=ระเบิด, กรงเล็บปีศาจ=วินาศกรรมทางน้ำ, นิ้วใหญ่=การล่มเรือ ระเบิดเรือขนาดใหญ่, กองทัพโดรน=ไฟไหม้หรือระเบิด, เมฆไข่=ระเบิดครั้งใหญ่, มังกรพ่นไฟ=ระเบิดครั้งใหญ่, รูปนิ้ว(ภาษาอวกาศ)=ประกาศสงครามกับมนุษยชาติ, ไม้กางเขน=การฆ่าครั้งใหญ่ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเมฆ เกิดจากการรวมตัวกันของหยดน้ำขนาดเล็กมาก ๆ เกล็ดน้ำแข็ง หรือจากทั้ง 2 อย่างรวมตัวกันบริเวณเหนือผิวโลก โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคของเหลวไม่เกิน 200 ไมโครเมตร สำหรับหยดน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าจะรวมตัวกันกลายเป็นฝนละอองหรือฝน เมฆมีรูปร่างและสีแตกต่างกันได้หลายแบบ ตามชนิดของเมฆ บางครั้งเราเห็นเมฆมีรูปร่างเป็นก้อนคล้ายสำลีลอยอยู่บนท้องฟ้าที่ระดับความสูงต่าง ๆ กัน บางครั้งมีรูปร่างคล้ายขนนก และบางครั้งอาจเห็นเมฆมีขนาดใหญ่เป็นแผ่นหนาคล้ายกำแพง

สีของเมฆนั้นบ่งบอกถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมฆ ซึ่งเกิดจากไอน้ำลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงเย็นตัวลงและควบแน่นเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ละอองน้ำเหล่านี้มีความหนาแน่นสูง แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องทะลุผ่านไปได้ไกลภายในกลุ่มละอองน้ำนี้จึงเกิดการสะท้อนของแสงทำให้เราเห็นเป็นก้อนเมฆสีขาว ในขณะที่ก้อนเมฆกลั่นตัวหนาแน่นขึ้น และเมื่อละอองน้ำเกิดการรวมตัวขนาดใหญ่ขึ้น จนในที่สุดตกลงมาเป็นฝน ในระหว่างกระบวนการนี้ละอองน้ำในก้อนเมฆซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะมีช่องว่างระหว่างหยดน้ำมากขึ้น ทำให้แสงสามารถส่องทะลุผ่านไปได้มากขึ้น ซึ่งถ้าก้อนเมฆนั้นมีขนาดใหญ่พอ และช่องว่างระหว่างหยดน้ำนั้นมากพอ แสงที่ผ่านเข้าไปก็จะถูกซึมซับไปในก้อนเมฆและสะท้อนกลับออกมาน้อยมาก ซึ่งการซึมซับและการ สะท้อนของแสงนี้ส่งผลให้เราเห็นเมฆตั้งแต่สีขาว สีเทา ไปจนถึง สีดำ มีการแบ่งเมฆ 10 ตระกูล ตามความสูงได้ 3 ระดับ ได้แก่

1. ชั้นสูง
-ซีร์รัส 6,000-12,000 เมตร 20,000-40,000 ฟุต
-ซีร์โรสเตรตัส 6,000-12,000 เมตร 20,000-40,000 ฟุต
-ซีร์โรคิวมูลัส 6,000-12,000 เมตร20,000-40,000 ฟุต

2. ชั้นกลาง
-นิมโบสเตรตัส พื้นผิว-3,000 เมตรพื้นผิว-10,000 ฟุต
-แอลโตสเตรตัส 2,000-6,000 เมตร6,500-20,000 ฟุต
-แอลโต คิวมูลัส 2,000-6,000 เมตร 6,500-20,000 ฟุต

3. ชั้นต่ำ
-สเตรตัส พื้นผิว-600 เมตร พื้นผิว-2,000 ฟุต พื้นผิว 1,200 เมตร พื้นผิว-4,000 ฟุต
-สเตรโตคิวมูลัส 300-1,350 เมตร1,000-4,500 ฟุต 300-2,000 เมตร 1,000-6,500 ฟุต

เมฆก่อตัวในทางตั้ง
-คิวมูลัส 300-1,500 เมตร 1,000-5,000 ฟุต 300-2,000 เมตร
1,000-6,500 ฟุต
-คิวมูโลนิมบัส 600-1,500 เมตร 2,000-5,000 ฟุต300-2,000 เมตร
1,000-6,500 ฟุต

ลักษณะของเมฆเตือนภัย
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าว พยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา เท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยตามหลักวิชาการแล้ว เมฆเกิดจากการรวมตัวกันของหยดน้ำขนาดเล็กมาก ๆ เกล็ดน้ำแข็ง หรือจากทั้ง 2 อย่างรวมตัวกันบริเวณเหนือผิวโลก มีรูปร่างและสีแตกต่างกันได้หลายแบบตามชนิดของเมฆ ส่วนสีของเมฆเกิดจากการซึมซับและการสะท้อนของแสงภายในเมฆส่งผลให้เราเห็นเมฆตั้งแต่สีขาว สีเทา ไปจนถึงสีดำ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด