mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,804,266
</p>

เตือนภัย! อย่าหลงเชื่ออาหารเสริม อ้างสามารถรักษาโรคทางตาได้

อย. เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ก็ตาม ที่โฆษณาสามารถใช้รักษาโรคทางตา

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์พบผู้ป่วยสูญเสียดวงตาข้างขวาจากการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “พลูคาว” มาหยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจก นั้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย ได้ตรวจสอบตรวจพบเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มาขออนุญาต อย. ใช้ชื่อ คอลดาต้า (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำพลูคาว) สถานที่ผลิตที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการตรวจสอบการกระทำผิดพบว่า อย. เคยดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณากับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายแล้ว

ทั้งนี้ อย. ห้ามมิให้โฆษณาเผยแพร่ในเชิงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถบำบัด รักษา หรือบรรเทาโรคใด ๆ หรือหยอดตา แต่อย่างใด

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย โดยเฉพาะพนักงานขายตรง และสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีคุณธรรม จริยธรรม และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อย่ากระทำการโฆษณาที่อวดสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกล่าวอ้างรักษาสารพัดโรค จนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ

สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “น้ำพลูคาว” ที่เป็นปัญหา วานนี้ (6 ก.ย.61) อย. ได้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย คือ บริษัท คิงส์ เฮิร์บเวิลด์ 1999 จำกัด ตั้งอยู่เขตบางเขน กรุงเทพฯ พบเป็นสถานที่จำหน่ายแบบขายตรง MLM มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และตรวจสอบพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำพลูคาว คอลดาต้า ซึ่งได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์หาตัวยาและสเตียรอยด์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบการปลอมปนยาหรือสารอันตราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังพบเอกสารเผยแพร่การโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ อย. จึงเก็บหลักฐานทั้งหมดเพื่อประกอบการดำเนินคดี โดยหากพบเป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพบการแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลในการรักษา บำบัด บรรเทา รักษาโรค จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะพิจารณาเพิกถอนเลขสารบบอาหารต่อไป

ดังนั้น ขอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อไปใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งไม่มีสรรพคุณในการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ อาจทำให้โรคตาที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้ผู้บริโภคถูกหลอก อย. ขอแนะนำให้ตรวจสอบเลข อย. ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ Line @fdathai , Oryor Smart Application , เว็บไซต์ อย. และ เว็บไซต์ www.oryor.com เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับผลิตภัณฑ์ปลอม รวมทั้งตรวจสอบข้อความโฆษณาคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ก่อนว่าได้รับอนุญาตถูกต้องจาก อย. หรือไม่ โดยต้องดูที่ “เลขที่อนุญาตโฆษณา”

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมีคำว่า “ฆอ._/_ ” ที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ก็ตามที่โฆษณาอวดสรรพคุณรักษาโรคร้ายต่าง ๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา ไม่สามารถป้องกัน บำบัด รักษาโรค หรือเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน ตลอดจนโครงสร้างร่างกายได้

และหากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขอให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา : www.news.mthai.com

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด