ผลการพิจารณาของกรรมาธิการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ประชุมเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- พนักงานจ้างเหมาบริการได้รับค่าตอบแทนการทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี วันลาป่วย วันลาคลอด วันและเวลาทำงาน เวลาพัก ไม่น้อยกว่าสิทธิที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงคดีพิพาทให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน (เพิ่มมาตรา 4/1)
- สิทธิลาคลอด 120 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 60 วัน ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร 120 วัน/ครรภ์ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 วรรคหนึ่ง) และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร 60 วัน หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 59)
- สิทธิลาต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตร 15 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 50% ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตร 15 วัน ในกรณีที่บุตรมีภาวะการเจ็บป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน มีความผิดปกติหรือมีภาวะความพิการ โดยแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันประกอบการลา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 วรรคสี่) และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลา 50% (เพิ่มมาตรา 59/1)
- สิทธิลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสซึ่งคลอดบุตร 15 วัน/ครรภ์ โดยได้รับค่าจ้าง 100% ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสซึ่งคลอดบุตร 15 วัน/ครรภ์ โดยใช้สิทธิก่อนหรือในวันที่ลาภายใน 90 วันนับแต่วันที่คลอดบุตร (เพิ่มมาตรา 41/1) และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรส ซึ่งคลอดบุตร 100% ตลอดระยะเวลาที่ลา (เพิ่มมาตรา 59/2)
- ให้นายจ้างยื่นแบบ คร. 11 ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 115/1)
ทั้งนี้ ร่างฯ ดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 แล้ว โดยจะส่งร่างฯ ให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป