mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,913,837
</p>

สธ. ส่งหนังสือถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้รักษาโรคโควิด 19 แบบโรคประจำถิ่น อาการไม่รุนแรง รับยากลับบ้านได้ จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสธ. ส่งหนังสือถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้รักษาโรคโควิด 19 แบบโรคประจำถิ่น อาการไม่รุนแรง รับยากลับบ้านได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

กระทรวงสาธารณสุข คาดสถานการณ์โควิด 19 ยังสูงต่อเนื่องอีก 2-6 สัปดาห์ ก่อนทรงตัวและเริ่มลดลง จึงได้เพิ่มการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านแบบสมัครใจ ซึ่งกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง สามารถหายเองได้ จะทำการให้ยารักษาตามอาการ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วน HI/CI ยังคงมีเหมือนเดิม และยืนยันว่ามีเตียงกับยาเพียงพอรองรับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน ซึ่งคล้ายกับการรักษาระบบ HI คือ มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการ โดย HI จะโทรติดตามทุกวัน และมีอุปกรณ์ตรวจประเมินให้ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงอาหาร แต่กรณีผู้ป่วยนอกเนื่องจากไม่มีความเสี่ยง จึงไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมินและอาหารให้ และจะโทรติดตามอาการครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง แต่ทุกรูปแบบจะมีช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ และมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวี กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 มีการปรับปรุงมาเป็นระยะตามข้อมูลทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 แบ่งการรักษาผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก 4 กลุ่ม คือ
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากๆ กลุ่มนี้จะหายเองได้ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกโดยแยกกักตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดความเสี่ยงรับผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากกำลังใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องหยุดฟ้าทะลายโจรก่อน
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ
4.ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงมาก สองกลุ่มนี้แพทย์จะพิจารณารับการรักษาในโรงพยาบาล และพิจารณาให้ยารักษาที่มียาชนิดตามความเหมาะสม

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ops.moph.go.th/public/ หรือโทร. 02 590 1000

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด