mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,896,579
</p>

พบเชื้อซาลโมเนลล่า ก่อโรคอาหารเป็นพิษรุนแรงกว่าเท่าตัว จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นพบเชื้อซาลโมเนลล่า ก่อโรคอาหารเป็นพิษรุนแรงกว่าเท่าตัว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยข้อมูลการตรวจยืนยันเชื้อซาลโมเนลล่า(Salmonella) และเชื้อชิกเกลล่า(Shigella)
ทางห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564 โดยได้ทำการรวบรวมข้อมูลและจำนวนที่ตรวจพบจากตัวอย่างที่ส่งมาตรวจยืนยันเชื้อบริสุทธิ์จากผู้ป่วยอาหารและสิ่งแวดล้อม
พบว่า ในปี 2562 พบซาลโมเนลล่าเอนเตอริทิดิส (Salmonella Enteritidis)  จำนวน 12 ไอโซเลต จากตัวอย่างทั้งหมด 315 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.80 ปี 2563 พบ 14 ไอโซเลต จากตัวอย่างทั้งหมด  408 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.43 และปี 2564 พบ 24 ไอโซเลต จากตัวอย่างทั้งหมด 271 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8.86 ทั้งนี้เชื้อซาลโมเนลล่า เอนเตอริทิดิส เป็นสายพันธุ์ที่มักก่อให้เกิดอาการของโรคในมนุษย์ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และถูกกำหนดในราชกิจจานุเบกษาของกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการควบคุมโรคซาลโมเนลล่าสําหรับสัตว์ปีก หากมีการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจ 

เชื้อซาลโมเนลล่าเป็นแบคทีเรียมีอยู่หลายสายพันธุ์ เกือบทุกสายพันธุ์ล้วนก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษที่มีความรุนแรงได้ทั้งสิ้น โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่า หรือที่เรียกว่าซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis) พบได้ในลําไส้มนุษย์และสัตว์ อาหารที่มักพบว่ามีการปนเปื้อนคือ เนื้อและเครื่องใน โดยเฉพาะเนื้อไก่ ไข่ และนมดิบ หากได้รับเชื้อจะทําให้เกิดอาการภายใน 12–36 ชั่วโมง อาการที่พบได้คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นไข้ ระยะเวลาที่เป็น 1–8 วัน ที่ผ่านมาเคยมีการระบาดของเชื้อซาลโมเนลล่าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จากตัวอย่างที่ส่งตรวจยืนยันเชื้อซาลโมเนลล่าทางห้องปฏิบัติการในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบเชื้อซาลโมเนลล่าเอนเตอริทิดิส มีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่องสำหรับประชาชนควรดื่มน้ำ รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนหลีกเลี่ยงอาหารที่สุกๆ ดิบๆ หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และล้างมือก่อนออกจากห้องน้ำ ส่วนผู้ประกอบอาหารหรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหารควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดและปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารและน้ำอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www3.dmsc.moph.go.th หรือโทร. 02 9510000

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด