อาการหน้ามืด จะเป็นลม วูบ หมดสติจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ต้องได้รับการแก้ไขทันที โดยการรับประทานคาร์โบไฮเดรต ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อไม่ให้อาการแย่ลงจนน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง โดยการแก้ไขอย่างถูกต้องมีความสำคัญมาก เพราะหากแก้ไขไม่ถูกต้อง รับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นอันตรายได้
สำหรับผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวและช่วยเหลือตนเองได้ การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ คือการให้รับประทานคาร์โบไฮเดรต และการตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างถูกต้อง ดังนี้
ทำตามกฎ 15-15 คือรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วรอ 15 นาทีจึงเจาะวัดน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าน้ำตาลในเลือดยังต่ำอยู่ ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีก 15 กรัม จนกว่าค่าน้ำตาลจะมากกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ตัวอย่างอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็วที่ปริมาณ 15 กรัม (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
– ลูกอม 3 เม็ด หรือ
– น้ำผลไม้ 120-180 ซีซี หรือ
– น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ หรือ
– น้ำผึ้งหรือน้ำหวานเฮลบลูบอย 1 ช้อนโต๊ะ
กรณีเป็นก่อนมื้ออาหาร ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารในทันที
หากเป็นระหว่างมื้ออาหาร ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า 15 กรัม โดยตัวอย่างอาหาร (เลือกรับประทานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง) เช่น
– ขนมปัง 1 แผ่น หรือ
– กล้วยหรือแอปเปิล 1 ลูก หรือ
– โยเกิร์ต 200 กรัม หรือ
– นมจืด 1 กล่อง หรือ
– ข้าวต้ม หรือโจ๊กครึ่งถ้วย