mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,012,120
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! รักษากรดไหลย้อน ด้วยกระเจี๊ยบเขียว

ตามที่มีข้อความเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง รักษากรดไหลย้อน ด้วยกระเจี๊ยบเขียว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีการแชร์สรรพคุณของ “กระเจี๊ยบเขียว” ว่าสามารถใช้รักษาอาการกรดไหลย้อนได้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อาการกรดไหลย้อนไม่สามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรกระเจี๊ยบเขียว ต้องรักษาที่สาเหตุ โดยกระเจี๊ยบเขียวนั้นเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหาร วิตามิน และ แร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งจะนิยมนำมาประกอบอาหาร หรือรับประทานเป็นเครื่องเคียง ส่วนสรรพคุณตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ ได้แก่ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา โดยจะใช้ในรูปแบบของสูตรผสมเป็นตำรับยาเท่านั้น ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยใดที่ยืนยันว่า กระเจี๊ยบเขียวสามารถช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อนได้ ดังนั้น หากมีอาการกรดไหลย้อน แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

โดยกรดไหลย้อน คือ การไหลย้อนของน้ำย่อยจากกระเพาะซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดขึ้นมายังหลอดอาหาร ทำให้มีอาการระคายเคืองคอ ไอ เรอเปรี้ยว แสบร้อนใต้ลิ้นปี่ จุกเสียด แน่นท้อง โดยมีสาเหตุจากหูรูดหลอดอาหารคลายตัว ทำให้ปิดกั้นน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไม่ได้นั่นเอง นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยส่งเสริมให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เช่น ภาวะอ้วน, อาหารรสเผ็ด อาหารทอด อาหารมัน, เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม, ความเครียด, สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดเกินไป, การเอนตัวลงนอนทันทีภายหลังที่รับประทานอาหารอิ่ม

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร 02 5907000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : อาการกรดไหลย้อนไม่สามารถรักษาด้วยกระเจี๊ยบเขียวได้ ต้องรักษาที่สาเหตุ อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาใดที่ยืนยันว่ากระเจี๊ยบเขียวช่วยรักษากรดไหลย้อนได้

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด