mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,975,459
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ย่านางแดงช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อน

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องย่านางแดงช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีคำแนะนำด้านสุขภาพโดยระบุว่าย่านางแดงช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อน ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าย่านางแดงเป็นพืชสมุนไพรที่มีการนำมาใช้เป็นยา เช่น แก้ไข้ แก้พิษเมาเบื่อ แต่ยังไม่เคยพบข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกการช่วยลดอาการกรดไหลย้อนแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของย่านาง ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ยังไม่พบรายงานการวิจัยในคน โดยพบว่าย่านาง มีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase และมีฤทธิ์อย่างอ่อน ๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งการศึกษาด้านความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำจากทั้งต้นและสารสกัด 50% เอทานอลจากใบไม้เป็นพิษต่อหนูแรท แต่การป้อนรากย่านางในขนาดสูง มีความเป็นพิษทำให้สัตว์ทดลองตาย

ทั้งนี้ โรคกรดไหลย้อนในทางการแพทย์แผนไทย เรียกว่า “กระษัยท้น” มีลักษณะอาการท้นขึ้นมาบริเวณยอดอกหลังรับประทานอาหารบางทีมีอาการอาเจียน แน่นหน้าอกร่วมด้วยสามารถเทียบเคียงได้กับโรคกรดไหลย้อนของทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นไประคายเคืองต่อหลอดอาหารและลำคอ ซึ่งสาเหตุกระษัยท้นทางการแพทย์แผนไทยอธิบายว่าเกิดจากการรับประทานอาหารในช่วงที่ความร้อนภายในกระเพาะอาหารลดบทบาทลงอาหารจึงไม่ย่อย เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีอาการจุกเสียดจากภาวะอาหารไม่ย่อย ลมภายในกระเพาะอาหารมีปริมาณมากขึ้น เกิดความเคร่งตึงของผนังกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารคลุกเคล้ากับน้ำย่อยได้ช้าลง 

ภาวะอาหารไม่ย่อยที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมักเป็นสาเหตุทำให้มีอาการเรอเปรี้ยวเนื่องจากลมหรือแรงดันที่เพิ่มขึ้นภายในกระเพาะอาหารผลักดันหูรูดตอนบนของกระเพาะอาหารเปิดออก และพัดพาของเหลวภายในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะน้ำย่อยไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร แสดงออกด้วยอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรือลำคอ โดยหลักการรักษากระษัยท้นทางการแพทย์แผนไทยเน้นการรักษาด้วยตำรับยาที่มีส่วนประกอบของยารสร้อน ซึ่งมีสรรพคุณในการขับลมและสลายลมภายในกระเพาะอาหาร เช่น ขิง ไพล ขมิ้นชัน อบเชยเทศ เป็นต้น และยารสฝาดหรือยารสขมที่มีสรรพคุณดับพิษร้อนและสมานแผลบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทั้งนี้มีเจตนาเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดับพิษร้อนและสลายลมภายในกระเพาะอาหารไปพร้อม ๆ กัน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ย่านางแดงเป็นพืชสมุนไพรที่มีการนำมาใช้เป็นยา เช่น แก้ไข้ แก้พิษเมาเบื่อ แต่ยังไม่เคยพบข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกการช่วยลดอาการกรดไหลย้อนแต่อย่างใด 

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด