mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,824,753
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Orbitrin สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ฟื้นฟูการมองเห็นโดยไม่ต้องผ่าตัด

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในประเด็นเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Orbitrin สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ฟื้นฟูการมองเห็นโดยไม่ต้องผ่าตัด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออร์บิทริน เลขสารบบอาหาร 11-1-24162-5-0018 ระบุสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ว่า สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ช่วยปรับปรุงและฟื้นฟูความสามารถทางการมองเห็นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบแล้วพบว่า เว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว แสดงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเท็จ และมีการใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ยังพบมีการแอบอ้างชื่อบุคลากรทางการแพทย์ ในตำแหน่งหัวหน้าทีมวิจัยเฉพาะด้านจากสถาบันจักษุวิทยา โดยกล่าวว่าเป็นผู้รับรองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วนั้น ไม่มีตำแหน่งทางการแพทย์ตามที่กล่าวอ้างในราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งชื่อแพทย์ตามที่กล่าวอ้างในเว็บไซต์ ไม่มีข้อมูลชื่อในฐานข้อมูลตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์ของแพทยสภา และภาพชายที่อ้างว่าเป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียงนั้น เป็นภาพชายที่เผยแพร่ทั่วไปอยู่บนอินเทอร์เน็ต

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอเตือนประชาชนว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ไม่สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาได้ อย่าหลงเชื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้องจากคณะกรรมการอาหารและยาสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 02 5907000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Orbitrin ไม่สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาได้ อีกทั้งแสดงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเท็จ และใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด