mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,924,458
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำสับปะรดปั่นและน้ำใบย่านางปั่น ป้องกันและรักษาเส้นเลือดสมองตีบ

ตามที่มีการแชร์ข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องน้ำสับปะรดปั่นและน้ำใบย่านางปั่น ป้องกันและรักษาเส้นเลือดสมองตีบ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีการโพสต์คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำน้ำปั่นเพื่อสุขภาพในเฟซบุ๊กระบุว่าป้องกันและรักษาเส้นเลือดสมองตีบ สิ่งที่ต้องเตรียมคือน้ำสับปะรดปั่นและน้ำใบย่านางปั่น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ไม่มีผลการศึกษาว่าการดื่มน้ำย่านางผสมน้ำสับปะรดจะสามารถช่วยรักษาเส้นเลือดในสมองตีบได้ เพราะย่านางถือเป็นยาเย็น มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ โดยรากใช้แก้ไข้ทุกชนิด เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด สุกใส ไข้กาฬ ขับกระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และแก้เบื่อเมา ส่วนใบ รับประทานถอนพิษ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้เซื่องซึม ไข้หัว ไข้พิษ ปวดหัวตัวร้อน อีสุกอีใส หัด ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นยากวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดง ส่วนผลของสับปะรดมีสรรพคุณในการขับเหงื่อ ห้ามเลือด แก้ทางปัสสาวะ ขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ แก้โลหิตระดู บำรุงโลหิต แก้นิ่ว แก้ระดูขาว เป็นยาระบาย แก้หนองใน ทำให้แท้ง ช่วยย่อยอาหาร แก้ปัสสาวะพิการ (ปัสสาวะขัด) ขับปัสสาวะ กัดเสมหะในลำคอ แก้เสมหะเหนียว ขับเสมหะ แก้ไอ ระงับการอักเสบและบวม ทำให้แผลหายเร็ว

นอกจากนี้โรคเส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยง โดยเกิดการหนาตัวของผนังหลอดเลือดจากการมีไขมันมาสะสมตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลผ่านไปได้น้อยลง ซึ่งถ้าเกิดการสะสมและหนามาก จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดความเสียหายต่อบริเวณนั้น ๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ ซึ่งในบางรายอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ตามองไม่เห็น ชาครึ่งซีก เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะมีโอกาสลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ดังนี้
1. ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ ได้แก่ อายุและเพศ การที่มีอายุมากขึ้น
2. ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ได้แก่ โรคอ้วนและขาดการออกกำลังกาย โรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ สารนิโคตินที่ได้รับทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ สามารถรักษาได้หลายวิธีโดยขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งการป้องกันเส้นเลือดในสมองตีบ สามารถป้องกันได้ เช่น ในผู้ป่วยควรกินยาควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รักษาความดันโลหิต และในผู้ป่วยและคนปกติควรควบคุมน้ำหนักและรูปร่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น แต่ถ้าหากสงสัยว่าตัวเองเริ่มมีอาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อการรักษาที่รวดเร็วและลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยดูจากอาการและสัญญาณเตือนของสโตรก (F.A.S.T.)
– FACIAL PALSY จะมีอาการกล้ามเนื้อที่หน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหล มุมปากตก ไม่สามารถยิงฟันหรือยิ้มได้
– ARM DRIP แขนหรือขาอ่อนแรง ซีกใดซีกหนึ่ง ยกไม่ขึ้น หรือยกขึ้นค้างได้ ไม่นานก็ตกลง
– SPEECH พูดลำบาก พูดจาติดๆ ขัดๆ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
– TIME นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะการให้ยาสลายลิ่มเลือดต้องทำภายในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/หรือโทร0-2591-7007

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีผลการศึกษาว่าการดื่มน้ำย่านางผสมน้ำสับปะรดจะสามารถช่วยรักษาเส้นเลือดในสมองตีบได้ เพราะย่านางถือเป็นยาเย็น มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ และผลของสับปะรดมีสรรพคุณในการขับเหงื่อ ห้ามเลือด แก้ทางปัสสาวะ ขับพยาธิ เป็นต้น

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด