mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,789,575
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! การขึ้น 1 ขีดหรือ 2 ขีด ของ ATK เป็นเพียงค่าของความเป็นกรด – ด่าง อาจจะไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการขึ้น 1 ขีดหรือ 2 ขีด ของ ATK เป็นเพียงค่าของความเป็นกรด – ด่าง อาจจะไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ในสื่อออนไลน์โดยระบุว่า การขึ้น 1 ขีดหรือ 2 ขีด ของ ATK เป็นเพียงค่าของความเป็นกรด – ด่าง อาจจะไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ชุดทดสอบโดยทั่วไปต้องมีแถบ Control line เพื่อให้ทราบว่าชุดทดสอบนั้นยังคงสามารถใช้งานได้ปกติ ส่วนแถบทดสอบจะทำการตรึงด้วยโปรตีน ( First antibodie) ที่มีความจำเพาะต่อเชื้อนั้น ๆ ที่จะทดสอบ ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับ secondary antibodie ที่ conjugate กับ collidal gold (สารที่ทำให้เกิดสีมองเห็นด้วยตาเปล่า)

โดยการขึ้นขีด 1 ขีดหรือ 2 ขีด ไม่ได้ระบุถึงสายพันธุ์ของไวรัส และไม่ได้ระบุถึงความเป็นกรด – ด่าง แต่ความเป็นกรดด่างจะมีผลต่อชุดทดสอบ เนื่องจากมีผลต่อสารที่ทำการเชื่อมทำให้เกิดสี คือ collidal gold มีผลทำปฏิกิริยากับกรด เช่น กรดอะซิติก และด่าง เช่น NaOH หรือ EtOH ตัวอย่างก่อนการทดสอบ จะให้นำไปใส่ในสารละลายที่เตรียมไว้ในชุดทดสอบ ซึ่งสารนี้เป็นเพียงสารนำพาตัวอย่างให้เกิดปฏิกิริยา (release solution)

สรุป คือ ความเป็นกรด – ด่างมีผลต่อการทำปฏิกิริยาของชุดตรวจแต่ละชนิด จึงมีหลอดน้ำยาบัฟเฟอร์เป็นอุปกรณ์ให้มาในชุดตรวจเพื่อปรับค่าความเป็นกรด – ด่างของตัวอย่างให้เหมาะสมกับชนิดตัวอย่างตามที่ระบุในชุดตรวจ ซึ่งเป็นตัวอย่างเก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลาย ดังนั้นผู้ใช้จะต้องไม่นำชุดตรวจไปใช้ผิดประเภท

กรณีใช้งานชุดตรวจไม่ถูกต้อง เช่น ทดสอบกับสารที่มีความเป็นกรด – ด่างสูง น้ำเปล่า น้ำจากสิ่งแวดล้อม หรือสารละลายที่มีความสามารถในการแตกตัวเป็นไอออน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเกิดปฏิกิริยา และแปลผลคลาดเคลื่อน เช่น ผลบวกปลอม หรือผลลบปลอมได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www3.dmsc.moph.go.th หรือโทร. 02 9510000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ขีดบน ATK ไม่ได้ระบุความเป็นกรด – ด่าง ซึ่งกรด – ด่างมีผลต่อการทำปฏิกิริยาของชุดตรวจแต่ละชนิด จึงมีหลอดน้ำยาบัฟเฟอร์เป็นอุปกรณ์ให้มาในชุดตรวจเพื่อปรับค่าความเป็นกรด – ด่างของตัวอย่างให้เหมาะสมกับชนิดตัวอย่างตามที่ระบุในชุดตรวจ โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลาย ผู้ใช้จะต้องไม่นำชุดตรวจไปใช้ผิดประเภท

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด