mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,118,888
</p>

ข่าวบิดเบือน อย่าแชร์! พรบ.อิสลามมีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยมุสลิม

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เป็นสื่อวิดีโอเกี่ยวกับ พรบ.อิสลามมีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยมุสลิม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและ กิจการฮัจย์ สังกัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น มีข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีที่มีสื่อวิดีโอกล่าวถึงเรื่อง พรบ.อิสลามมีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยมุสลิม ทางการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลาม และกิจการฮัจย์ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า สาระสำคัญที่นำมาอธิบาย เพื่อเป็นเหตุในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามทั้ง 3 ฉบับของคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการนำบทบัญญัติ ตลอดจนหลักการและเหตุผล แห่งกฎหมายมาอธิบายอย่างบิดเบือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย คือ ที่กล่าวว่าข้อบังคับของ พระราชบัญญัติ ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 จัดสรรเงินทุนวงเงิน 300 ล้านบาท ให้ไปประกอบกิจกรรมฮัจย์ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ เป็นเงินส่วนตัวของผู้เดินทางทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 2 แสนบาท โดยไม่ได้มีงบประมาณของทางราชการสนับสนุนแต่อย่างใด แต่มีการจัดสรรเงินทุนกู้ยืมจากงบประมาณแผ่นดินให้ผู้ประกอบกิจกรรมฮัจย์ 300 ล้านบาท จริง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์กู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยต้องคืนเงินกู้ยืมเข้ากองทุนให้ครบตามจำนวนที่กู้ยืม และต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยในการกู้ยืมนั้น ต้องวางหนังสือค้ำประกันธนาคารเต็มวงเงินที่กู้ด้วย

อีกทั้งที่มีการกล่าวว่าอนุมัติงบประมาณแผ่นดินสร้างมัสยิดใหญ่หลายแห่ง ก็เป็นข้อมูลที่บิดเบือน เนื่องจากการก่อสร้างมัสยิด นั้นมาจากศรัทธาของศาสนิกชนด้วยการบริจาคที่ดิน และทรัพย์ในการก่อสร้าง โดยภาครัฐมิได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างแต่อย่างใด เว้นแต่มัสยิดกลางประจำจังหวัดในบางจังหวัด เช่น มัสยิดกลางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ

ซึ่งรายละเอียด ที่กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลาม และกิจการฮัจย์ สังกัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงทั้งหมด คือ

ตามที่ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 และฉบับแก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการบริหารองค์กร ศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และการสงวนอัตรากำลังสำหรับผู้ที่จบการศึกษาตามโครงการฯ นั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ขอชี้แจงว่า สาระสำคัญที่นำมาอธิบาย เพื่อเป็นเหตุในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามทั้ง 3 ฉบับของผู้ผลิตคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการนำบทบัญญัติ ตลอดจนหลักการและเหตุผลแห่งกฎหมายมาอธิบายอย่างบิดเบือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ตลอดจนโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและการสงวนอัตรา ดังต่อไปนี้


1. พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
1.1 ฮัจย์ เป็นหลักปฏิบัติประการที่ 5 ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยการปฏิญานตน การละหมาด การซะกาต(การบริจาคทาน) การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งการประกอบพิธีฮัจย์มีวัน และสถานที่ที่กำหนดไว้อย่างตายตัว ดังนั้น ในทุกๆ ปี จะมีผู้ที่นับศาสนาอิสลามจำนวนมากซึ่งมีความพร้อมทางด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และความปลอดภัยในการเดินทางต่างมุ่งหวังที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ให้ได้สัก 1 ครั้งในชีวิต แต่ด้วยข้อจำกัดของ สถานที่ประกอบพิธีและกำลังเจ้าหน้าที่ที่จะมาอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบีย ต้องมีการจำกัดโควตาผู้ที่จะได้สิทธิไปประกอบพิธีฮัจย์ในแต่ละปี ให้แต่ละประเทศไปบริหารจัดการกันเอง พร้อมทั้งต้องมีหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบในการบริหารจัดการและประสานงานกับรัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบีย จึงทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้อง จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการฮัจย์ขึ้นหรือมอบหมายให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบไป เช่น ประเทศมาเลเซีย อยู่ในความรับผิดชอบของตาบงฮัจยี (กองทุนเพื่อกิจการฮัจย์) หรือประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกิจการฮัจย์ กระทรวงศาสนา เป็นต้น
1.2 รัฐบาลไทย ได้เข้ามาบริหารจัดการกิจการฮัจย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 111 ลงวันที่ 3 เมษายน 2515 โดยให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบการขนส่งผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ต่อมาถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 โดยให้กรมการศาสนา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น (ต่อมาได้มีการโอนกรมการศาสนาไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) และในปี พ.ศ. 2559 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2559 โอนกิจการฮัจย์มาให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยกฎหมายทั้ง 3 ฉบับมีเจตนารมณ์สำคัญในการดูแล และคุ้มครองให้ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามได้เดินทางไปประกอบพิธีด้วยความสะดวก ปลอดภัย มีหลักประกัน และได้ประกอบศาสนกิจที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักศาสนา ตลอดจนกำหนดองค์กร และหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในบริหารจัดการกิจการฮัจย์ และประสานงานกับรัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งองค์กรที่กฎหมายกำหนดขึ้น ได้แก่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 4 คนเป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมการปกครองในฐานะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรมการปกครองทำหน้าที่สำนักเลขาธิการฯ

1.3 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติที่กำหนดโทษ จำนวน 3 มาตรา ดังนี้
– มาตรา 15 และมาตรา 16 เป็นความผิดฐาน “ประกอบกิจการตามมาตรา 5 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย” กิจการตามมาตรา 5 ได้แก่ (1) กิจการรับจัดบริการขนส่ง (2) การจัดบริการอื่นที่เกี่ยวกับกิจการฮัจย์ตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด และ (3) การโฆษณาหรือกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการชักชวนเพื่อให้ใช้หรือรับบริการตาม (1) หรือ (2) อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ประกอบกิจการตามมาตรา5 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ประกอบกิจการตามมาตรา 5 (3) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– มาตรา 17 เป็นความผิดฐาน “เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามมาตรา 5 แล้ว แต่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใดๆ ซึ่งคณะกรรมการฯ กำหนดขึ้นตามมาตรา 11 (2)” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาททั้งนี้ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้มีบทบัญญัติในมาตราใด กำหนดโทษสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่สนับสนุนในกิจการฮัจย์แต่อย่างใด เว้นแต่บทสันนิษฐานความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลต่อการกระทำความผิดของนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรา 15-17 ดังที่ปรากฏในมาตรา 18 เท่านั้น
1.4 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ เป็นเงินส่วนตัวของผู้เดินทางทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 2 แสนบาท ประกอบด้วย ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าที่พักตลอด 40 วันเศษ ค่าอาหาร ค่ารถโดยสารรับส่ง ค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ ค่าธรรมเนียมวีซ่า เป็นต้น โดยมิได้มีงบประมาณของทางราชการสนับสนุนแต่อย่างใด และด้วยเหตุที่ค่าใช้จ่ายต่อคนค่อนข้างมาก ผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์บางรายไม่อาจชำระได้หมดในครั้งเดียวได้ ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการต่างๆ จำเป็นต้องสำรองเงินเป็นค่าใช้จ่ายข้างต้นไปก่อน จึงได้มีการร้องขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์กู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย ไปสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อน และเมื่อเก็บเงินจากผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้ว ก็ต้องส่งคืนเงินที่กู้ยืมเข้ากองทุนให้ครบตามจำนวนที่กู้ยืมไป แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยในการกู้ยืมนั้น ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่กู้ยืมต้องวางหนังสือค้า ประกันธนาคารเต็มวงเงินที่กู้ด้วย

2. พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
2.1 พระราชบัญญัติฉบับนี้ตราขึ้นเพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2491
2.2 พระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญ ดังนี้
1) จัดตั้งองค์กรการบริหารในศาสนาอิสลามให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม พร้อมทั้งกำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ขององค์กรการบริหารที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำทางศาสนา
2) จัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรการบริหารตาม 1) ให้สามารถกำกับดูแลกันตามระดับขององค์กร
3) องค์กรการบริหารตาม 1) มีหน้าที่สำคัญในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา และการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาของพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาในพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรแต่ละระดับ
4) กำหนดให้การก่อสร้างมัสยิดต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณี และเมื่อก่อสร้างเสร็จและใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้แล้ว สามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมัสยิดจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ได้แก่ ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ซึ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลที่พึงมีตามกฎหมาย
2.3 การก่อสร้างมัสยิด มีหลักการที่สำคัญเหมือนกับศาสนสถานในศาสนาอื่นที่จะต้องมาจากศรัทธาของศาสนิกชนด้วยการบริจาคที่ดินและทรัพย์ในการก่อสร้าง ปัจจุบันมีมัสยิดจดทะเบียนทั่วประเทศ จ านวนทั้งสิ้น 3,997 มัสยิด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)

2.4 เมื่อมัสยิดเกิดจากความศรัทธาของศาสนิกชนในศาสนาอิสลาม โดยภาครัฐมิได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างแต่อย่างใด เว้นแต่มัสยิดกลางประจำจังหวัดในบางจังหวัด เช่น มัสยิดกลางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2500 ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ หรือมัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (สมัยนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) ตามแผน/โครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้กลุ่มอ่าวไทยรวม 4 จังหวัด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามของกลุ่มจังหวัด และรองรับการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน
3. โครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย และการสงวนอัตรากำลัง
3.1 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2513 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ดำเนินการตามโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ 9 แห่ง เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาพื้นที่ จชต. โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาที่จบตามโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 1,301 คน
3.2 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 เห็นชอบให้สงวนอัตรากำลังเข้ารับราชการสำหรับนักศึกษาที่จบการศึกษาตามโครงการในข้อ 3.1 เข้ารับราชการในพื้นที่ จชต.เป็นกรณีพิเศษ โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ สงวนไว้ 4 อัตราต่อปี สำหรับกระทรวงอื่นๆ กระทรวงละ 1 อัตราต่อปี ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา หากเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ ให้สามารถบรรจุได้ทันที แต่หากเป็นสาขาวิชาอื่นก็ต้องผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน จนถึงปัจจุบันมีผู้ที่จบการศึกษาตามโครงการได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานอื่นของรัฐในพื้นที่ จชต. จำนวน 602 คน
3.3 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 อนุมัติให้ขยายเวลาการดำเนินการโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เป็นระยะที่ 10 (พ.ศ. 2562-2566) ในวงเงินงบประมาณรวม 5 ปี จ านวน 41,700,000 บาท หรือประมาณปีละ 8,340,000 บาท โดยเป็นนักศึกษาใหม่ปีละ 44 คน และนักศึกษาต่อเนื่องอีกประมาณปีละ 66 คน
3.4 ในการคัดเลือกนักศึกษาตามโครงการ กระทรวงมหาดไทยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการคัดเลือกโดยพิจารณาจากผู้สมัครที่มีผลการเรียนดี (คะแนนสอบ O-Net + GAT/PAT) มีความประพฤติดี และฐานะยากจนหรือได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบใน จชต.

 

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและ กิจการฮัจย์ สังกัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย  สามารถติดตามได้ที่ www.multi.dopa.go.th หรือโทร 02 2821461

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลาม และกิจการฮัจย์ สังกัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด