mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,471,926
</p>

ข่าวบิดเบือน สถานีกลางบางซื่อชั้น 3 ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีทางรถไฟวิ่ง เนื่องจากสร้างใหญ่เกินความจำเป็น

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสถานีกลางบางซื่อชั้น 3 ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีทางรถไฟวิ่ง เนื่องจากสร้างใหญ่เกินความจำเป็น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสถานีกลางบางซื่อชั้น 3 ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีทางรถไฟวิ่ง เนื่องจากสร้างใหญ่เกินความจำเป็น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ โดยได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ดังนั้น รัฐบาลจึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยในการกำกับของกระทรวงคมนาคม ผลักดันการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2564 โดยให้มีการพัฒนาและยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่ครอบคลุมและเชื่อมต่อทุกรูปแบบการเดินทางและการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟเชื่อมทางอากาศยาน ตลอดจนโครงข่ายถนนสายหลักทางพิเศษ และทางยกระดับ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามกรอบ Transit Oriented Development อันเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นการพลิกโฉมสถานีกลางบางซื่อและบริเวณใกล้เคียงให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารรวม 346,192 ตารางเมตร โดยแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็น 4 ชั้นได้แก่
ชั้นใต้ดิน มีพื้นที่ 72,000 ตารางเมตร เป็นชั้นจำหนายตั๋วโดยสาร ลาดจอดรถสำหรับบุคคลทั่วไป ทั้งเป็นจุดเชื่อต่อรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล
ชั้นที่ 1 หรือ ชั้น G มีพื้นที่ 86,000 ตารางเมตร เป็นจุดจำหน่ายบัตรโดยสาร โถงพักคอย และรับผู้โดยสาร ป้ายหยุดรถประจำทาง และรถประจำทางด่วนพิเศษเชื่อมต่อสถานีหมอชิต เขตร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน และห้องน้ำ
ชั้นที่ 2 มีพื้นที่ 86,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลา 12 ชานชาลา รองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม 2 ชานชาลา รถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน 9 ชานชาลา รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา ประกอบด้วยรถไฟทางไกลสายตะวันออก สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายเหนือ
ชั้นที่ 3 มีพื้นที่ 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารองรับรถไฟเชื่อมทางอากาศยานและรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน จำนวน 2 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ – นครราชสีมา และ นครราชสีมา – หนองคาย) และสายเหนือ (กรุงเทพ – เชียงใหม่) 6 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูงสายใต้ (กรุงเทพ – สุราษฎร์ธานี) 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา
โดยปัจจุบัน ชั้นที่ 3 ของสถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จะมีแผนเปิดให้บริการ ดังนี้ คือ
– รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีแผนเปิดให้บริการในปี 2569 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย มีแผนเปิดให้บริการปี 2573
– รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานและรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน มีแผนเปิดให้บริการในปี 2571

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากการรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.railway.co.th หรือโทรสายด่วน 1690

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : สถานีกลางบางซื่อชั้น 3 ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง แต่ปัจจุบันเป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง ที่จะมีแผนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในปี 2569 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ในปี 2573 และรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานและรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในปี 2571

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด