mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,046,435
</p>

ข่าวบิดเบือน กฟผ. เป็นหน่วยที่มีสนามกอล์ฟมากที่สุดถึง 11 สนาม โดยใช้เงินค่าไฟฟ้าของประชาชนมาดูแลสนามกอล์ฟของตัวเอง

ตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กฟผ. เป็นหน่วยที่มีสนามกอล์ฟมากที่สุดถึง 11 สนาม โดยใช้เงินค่าไฟฟ้าของประชาชนมาดูแลสนามกอล์ฟของตัวเอง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ระบุว่า กฟผ. เป็นหน่วยที่มีสนามกอล์ฟมากที่สุดถึง 11 สนาม ตั้งอยู่ในพื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าที่มีบรรยากาศสวยงาม บริหารจัดการแบบไม่มุ่งเน้นกำไร โดยใช้เงินค่าไฟฟ้าของประชาชนมาดูแลสนามกอล์ฟของตัวเอง มุ่งให้พนักงานเสวยสุขอยู่บนความทุกข์ของประชาชนนั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ในอดีตสนามกอล์ฟในพื้นที่ความรับผิดชอบของ กฟผ. ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่หลังจากมีการก่อสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า และบ่อเหมือง ให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ใกล้เคียงเดิม โดยมีผลพลอยได้เป็นสนามกีฬาให้กับผู้ปฏิบัติงาน ข้าราชการ และให้บริการชุมชนในพื้นที่ ให้มีพื้นที่ในการออกกำลังกาย ซึ่งแคมป์ก่อสร้างในอดีตเป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือเครื่องสันทนาการใด ๆ

ต่อมาสนามกอล์ฟ กฟผ. ได้ถูกปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับและส่งเสริมศักยภาพสนามกอล์ฟตามนโยบายด้านสนามกีฬาระดับจังหวัด รวมทั้งมีส่วนช่วยในการสร้างนักกีฬากอล์ฟในระดับท้องถิ่น และถูกใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติหลายครั้ง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมรายได้และการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ สนามกอล์ฟในความรับผิดชอบของ กฟผ. ยังได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาทำงานในสนาม ประกอบธุรกิจในพื้นที่ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยรอบ เช่น ผู้ดูแลสนาม แคดดี้ ร้านอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

สำหรับค่าบริการสนามกอล์ฟมีการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้สนาม และผู้ใช้บริการสนามกอล์ฟต้องชำระค่าบริการการใช้สนาม เพื่อนำรายได้ส่งเข้ารัฐ โดยมีการแจ้งจดราคาและนำส่งภาษีต่อกรมสรรพสามิต ภาษีบำรุงท้องที่อย่างถูกต้อง โดยงบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการสนามกอล์ฟส่วนหนึ่งมาจากรายได้ค่า Green Fee ซึ่งเก็บจากผู้มาใช้บริการทุกคน อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของ กฟผ. (Operating Expense: OPEX) ซึ่งมีการกำกับให้มีประสิทธิภาพด้วยหลักเกณฑ์ CPI-X ของหน่วยงานกำกับ คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และปัจจุบัน กฟผ. สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ต่ำกว่ากรอบที่กำหนด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสนามกอล์ฟ ไม่ได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่อย่างใด

website stamp 4090

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารหรือบริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถติดตามที่เว็บไซต์ www.egat.co.th หรือโทร 02 4361416

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : งบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการสนามกอล์ฟส่วนหนึ่งมาจากรายได้ค่า Green Fee ซึ่งเก็บจากผู้มาใช้บริการทุกคน อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของ กฟผ. ซึ่ง กฟผ. สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ต่ำกว่ากรอบที่กำหนด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสนามกอล์ฟ ไม่ได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่อย่างใด

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด