mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 21,017,527
</p>

กทม. เฝ้าระวังน้ำเค็มเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะช่วงวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. 65 จริงหรือ?

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องกทม. เฝ้าระวังน้ำเค็มเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะช่วงวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. 65 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

กรุงเทพมหานครได้มีการประชุมร่วมกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามปริมาณการเก็บกักน้ำในเขื่อน การระบายน้ำของเขื่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และสถานการณ์น้ำขึ้น – น้ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในแนวริมแม่น้ำเป็นประจำทุกวัน หากมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานจะทำการปิดประตูระบายน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน และการประปานครหลวง ร่วมปฏิบัติการผลักดันลิ่มน้ำเค็มหรือ Water Hammer Operation ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกันมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 28 มี.ค.ถึงวันที่ 3 เม.ย.65 นี้

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงนั้น ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนตามแนวริมแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมทั้งเฝ้าระวังจุดแนวฟันหลอที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงตรวจสอบและเข้าดำเนินการเรียงกระสอบทรายเสริมความสูงบริเวณแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่คันกั้นน้ำมีระดับต่ำ และไม่สามารถป้องกันน้ำเอ่อล้นได้ ส่วนพื้นที่ชุมชนที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำท่วมหรือแนวฟันหลอ และบริเวณที่คาดว่าระดับน้ำอาจจะเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ได้ เช่น บริเวณทางขึ้น – ลงท่าเรือ หรือสะพาน และได้เข้าดำเนินการเรียงกระสอบทราย โดยยกระดับความสูงของแนวกระสอบทรายอยู่ที่ระดับประมาณ +2.30 ม.รทก.ถึง +2.80 ม.รทก. นอกจากนี้ยังได้มีแผนการเตรียมพร้อมเพิ่มเติมโดยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ สำรองกระสอบทรายที่บรรจุแล้ว และสำรองกระสอบเปล่าที่พร้อมบรรจุทราย จัดเตรียม Big Bag ตะกร้าใส่ทรายสำหรับเรียงกระสอบ และพนังกั้นน้ำฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขได้ในทันที ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครที่อาจจะได้รับผลกระทบปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็ว กรุงเทพมหานครได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่าในการควบคุมและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบ้านเรือนของประชาชน

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้มีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 8 แห่ง รวมปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดทั้งสิ้น 815,000 ลบ.ม./วัน มาแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้ในกิจกรรม เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยสามารถขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วได้ทั้ง 8 แห่ง ดังนี้
1. โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 15,000 ลบ.ม./วัน
2. โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 20,000 ลบ.ม./วัน
3.โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 100,000 ลบ.ม./วัน
4. โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 140,000 ลบ.ม./วัน
5. โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 60,000 ลบ.ม./วัน
6. โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 140,000 ลบ.ม./วัน
7. โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 240,000 ลบ.ม./วัน และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัด 100,000 ลบ.ม./วัน

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prbangkok.com หรือโทร 0-2221-2141-69

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด