ตามที่มีข้อมูลเตือนเรื่องพายุหยินซิ่งเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ จะทำให้ลมหนาวที่ลงมาไทยตอนบนแผ่วลง ในวันที่ 8-9 พ.ย. 67 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีที่มีผู้โพสต์เตือนภัยโดยระบุว่า พายุหยินซิ่งเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ จะทำให้ลมหนาวที่ลงมาไทยตอนบนแผ่วลง ในวันที่ 8-9 พ.ย. 67 นั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า จะมีพายุชื่อหยินซิ่งเกิดขึ้นจริง ตามแบบจำลอง ecmwf ณ ปัจจุบัน แต่ไม่ได้เคลื่อนลงทะเลจีนใต้ จะเคลื่อนไปทางทะเลตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ และเคลื่อนเลี้ยวขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทางตะวันออกของไต้หวัน ส่วนความกดอากาศสูงจากจีนนั้น มีการแผ่ลงมาต่อเนื่อง พายุที่เกิดขึ้นเป็นตัวกั้นระบบ ไม่ให้ความกดอากาศสูงนั้นเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเร็วเกินไป ทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงและเย็นได้ต่อเนื่อง
พายุไม่ได้ทำให้ความกดอากาศสูงแผ่วลง จากการลงมาต่อเนื่องของความกดอากาศสูง เป็นการทำให้พายุอ่อนกำลังลงมากกว่าและในช่วงวันที่ 8-9 พ.ย. 67 วันที่ 8 พ.ย. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกยังคงปกคลุมประเทศเมียนมาตอนบน ด้านหน้าคลื่นปกคลุมทางตะวันตกและทางตอนบนของภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝน วันที่ 9 พ.ย. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกได้อ่อนกำลังลง ทำให้ฝนภาคเหนือลดลง ส่วนภาคอีสานอากาศยังเย็นอยู่
ดังนั้นขอเตือนว่า ข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather สายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จะมีพายุชื่อหยินซิ่งเกิดขึ้นจริง ตามแบบจำลอง ecmwf ณ ปัจจุบัน แต่ไม่ได้เคลื่อนลงทะเลจีนใต้ พายุที่เกิดขึ้นเป็นตัวกั้นระบบ ไม่ให้ความกดอากาศสูงนั้นเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเร็วเกินไป ทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงและเย็นได้ต่อเนื่อง และพายุไม่ได้ทำให้ความกดอากาศสูงแผ่วลง