เช็กให้ชัวร์ ก่อนหลงเชื่อข่าวมั่ว ๆ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงประเด็นดื่มน้ำแจกฟรีจากปั๊มน้ำมัน เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากน้ำมันระเหยเข้าสู่ขวดน้ำ ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลบิดเบือน ขวดน้ำดื่มชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ทั่วไปไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการซึมผ่านของไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิง มีความต้านทานในระดับปานกลางต่อสารไฮโดรคาร์บอนชนิดอะโรมาติกจำพวกเบนซีน ดังนั้น ไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงอาจมีโอกาสซึมผ่านขวดน้ำดื่มพลาสติกได้ในระดับหนึ่ง หากขวดน้ำอยู่ในบริเวณที่มีไอระเหยเข้มข้นสูง เช่น ใกล้หัวจ่ายน้ำมันหรือในพื้นที่ปิดของปั๊มน้ำมัน หรือบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง จะเพิ่มอัตราการซึมผ่านของสารระเหยได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่วางอยู่ในปั๊มน้ำมัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่สารบางชนิดในน้ำมัน เช่น เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็งที่มีการศึกษาพบว่า การสัมผัสเบนซีนโดยตรงในระดับสูง (>5 ppm) และต่อเนื่อง (>10 ปี) ในสถานที่ทำงาน เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือสถานีบริการน้ำมัน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งระบบเลือด งานวิจัยส่วนใหญ่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการควบคุมการสัมผัสตามมาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration : OSHA) และใช้ระบบป้องกันส่วนบุคคล
แต่ระดับการสัมผัสในชีวิตประจำวัน เช่น การอยู่ใกล้บริเวณที่มีกลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะเวลาสั้น ๆ ยังไม่พบว่า มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ Phthalate Esters (PAEs) เป็นสารเคมีที่ใช้เป็นพลาสติไซเซอร์ (plasticizer) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพลาสติก โดยเฉพาะในบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวด PET (polyethylene terephthalate) โดย PAEs ประกอบด้วยสาร เช่น DMP (Dimethyl phthalate) และ DEHP Di(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP) ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้ เช่น รบกวนระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disruptors) มีผลต่อพัฒนาการโดยการรบกวนฮอร์โมนภายในร่างกาย ทำลายระบบสืบพันธุ์, สมอง, ภูมิคุ้มกัน, และก่อมะเร็ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการเก็บน้ำในขวดพลาสติกเป็นเวลานานและอย่าเก็บขวดบรรจุน้ำไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือโดนแสงแดดโดยตรง ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ขวดน้ำดื่ม ให้หลีกเลี่ยงการวางขวดน้ำดื่มในบริเวณที่มีไอระเหยน้ำมันเข้มข้นสูง ในบริเวณใกล้หัวจ่ายน้ำมันหรือในพื้นที่ปิดของปั๊มน้ำมัน และไม่เก็บหรือวางน้ำขวดไว้ในในที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือโดนแสงแดดโดยตรง
ไตร่ตรองใครถี่ถ้วน ก่อนหลงเชื่อข่าวสารใด ๆ