mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,484,063
</p>

ข่าวบิดเบือน นายจ้างไลน์ อีเมล์ โทร หรือแชทนอกเวลางาน ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนายจ้างไลน์ อีเมล์ โทร หรือแชทนอกเวลางาน ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีมีการแชร์ข้อความบนสื่ออนไลน์ว่าเปิดกฎหมายแรงงานก่อนถึง ‘วันแรงงาน’ รู้หรือไม่ หากนายจ้างไลน์ อีเมลล์ โทร หรือ แชททั้งวันทั้งคืนนอกเวลางาน ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ให้เรา ขณะอยู่ในวันหยุดต้องจ่ายค่าทำงานเพิ่ม 3 เท่า โดยลูกจ้างสามารถเก็บหลักฐานเรียกร้องทางกฎหมายได้ ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ต้องดูเนื้อหาข้อความที่สั่งมาว่าเป็นอย่างไร ประกอบด้วยจะเหมาว่าทั้งหมดคือการสั่งทำงานไม่ได้ เช่น นายจ้างโทรมาคุยไม่นานเพื่อสั่งงานของวันถัดไป หรือไลน์มาแต่ไม่ได้สั่งให้ทำงานในวันนั้น ๆ จะไม่ถือว่าเป็นการสั่งงาน ในทางกลับกันหากโทรมาสั่งงานและให้ทำให้เสร็จในวันนั้นเลย จะถือเป็นการให้ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างสั่งให้ทำงานจริงในเวลา ดังนี้
1. นอกเวลาทำงานปกติ
2. ในวันหยุด ไม่ว่าจะหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หยุดพักผ่อนประจำปี
3. นอกเวลาทำงานปกติของวันหยุดทั้ง 3 ประเภทในข้อ 2
จะถือเป็นการให้ลูกจ้างทำงาน ตามมาตรา 61 – 64 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่การทำงานในวันหยุด นายจ้างไม่ได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุด 3 เท่าตามที่กล่าวอ้างมา ตามมาตรา 56 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดตังต่อไปนี้
(1) วันหยุดประจำสัปดาห์ เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง รายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) วันหยุดตามประเพณี
(3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี
มาตรา 61 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา 62 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ตาม มาตรา 28 มาตรา 29 หรือ มาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำ งานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตาม จำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา 63 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างใน อัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา 64 ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตาม มาตรา 28 มาตรา 29 และ มาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ใน มาตรา 62 และ มาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทร 0 2660 2180 และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทร 1546 หรือ 1506 กด 3

ข้อเท็จจริง : ต้องดูเนื้อหาข้อความที่สั่งมา เช่น นายจ้างโทรมาคุยไม่นานเพื่อสั่งงานของวันถัดไป หรือไลน์มาแต่ไม่ได้สั่งให้ทำงานในวันนั้น ๆ จะไม่ถือว่าเป็นการสั่งงาน ในทางกลับกันหากโทรมาสั่งงานและให้ทำให้เสร็จในวันนั้นเลย ถือเป็นการให้ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถปฏิเสธได้

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด