mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,907,513
</p>

ข่าวบิดเบือน
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ข่าวบิดเบือน แพทย์เตือนให้เลิกกินก๋วยเตี๋ยว เพราะมีสารกันบูดเกินเกณฑ์

ตามที่มีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องแพทย์เตือนให้เลิกกินก๋วยเตี๋ยว เพราะมีสารกันบูดเกินเกณฑ์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

กรณีการโพสต์ให้ข้อมูลโดยระบุว่าพบกรดเบนโซอิกในก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ โดยแพทย์เตือนให้เลิกกินก๋วยเตี๋ยว เพราะมีสารกันบูดเกินเกณฑ์ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า จากที่มีการแชร์ข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเมื่อปี 2550 ซึ่งสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการตรวจวิเคราะห์อาหารของประเทศ ได้มีการตรวจวิเคราะห์เฝ้าระวังการใช้วัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิค) ในอาหารประเภทเส้นมาอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งการผลิตอาหารประเภทเส้น บางชนิดมีการใช้วัตถุกันเสีย เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโต หรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้อาหารเน่าเสีย หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกรดเบนโซอิกทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย แต่หากได้รับในปริมาณน้อยร่างกายสามารถขับออกไปได้ ซึ่งข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรและองค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (The joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives, JECFA) ได้ประเมินและกำหนดค่าความปลอดภัย (ADI) พบว่า มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อย 

อย่างไรก็ตามวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดมีข้อกำหนดการใช้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) สำหรับกรดเบนโซอิกให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอาหารประเภทเส้นที่ผ่านกระบวนการต้ม การนึ่ง การปรุงให้สุกการพรีเจลาทิไนซ์ (Pre-gelatinized) หรือแช่เยือกแข็ง และเส้นแบบกึ่งสำเร็จรูป ส่วนกรดซอร์บิกให้ใช้ได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เฉพาะอาหารประเภทเส้นแบบกึ่งสำเร็จรูป

เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเส้นที่ทำจากแป้งอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาผู้ผลิตให้มีความรู้ความเข้าใจการใช้วัตถุกันเสียอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ อย.กำหนด ซึ่งผู้ผลิตจะต้องควบคุมกระบวนการผลิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน GMP สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ สะอาด ถูกสุขอนามัย และไม่ควรรับประทานอาหารซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ  

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www3.dmsc.moph.go.th หรือโทร. 02 9510000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลที่มีการบอกต่อดังกล่าวเป็นข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์เมื่อปี 2550 แต่ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นที่ทำจากแป้งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน GMP

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด