จำนวนผู้เข้าชม 24,270,862

สปสช. เพิ่มสิทธิแผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียมสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดสมอง จริงหรือ?

ตามที่มีข้อมูลปรากฏเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สปสช. เพิ่มสิทธิแผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียมสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดสมอง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคล ผลิตจากโลหะไทเทเนียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมอง และไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมในการปิดศีรษะได้

สำหรับที่มาของสิทธิประโยชน์นี้เดิมที สปสช. ได้ให้สิทธิประโยชน์อุปกรณ์กะโหลกศีรษะเทียม (Cranioplastic Implant) รวมสกรู ชุดละ 12,000 บาท ที่ผลิตจากวัสดุ Polymethylmethacrylate (PMMA) ที่ต้องปั้นขึ้นในห้องผ่าตัด แต่มีข้อจำกัดเนื่องด้วยวัสดุนี้ต้องใช้ระยะเวลาการคงรูปประมาณ 1 ชม. และอาจทำให้ไม่เข้ารูปบ้าง ขณะนี้มีบริษัทคนไทยที่สามารถผลิตแผ่นปิดกะโหลกศีรษะด้วยไทเทเนียมจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติขึ้นมาได้แล้ว และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทยอีกรายการหนึ่ง โดยได้ผ่านการอนุมัติรับรองคุณภาพและมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับนโยบายของ สปสช. ที่ให้มีการพิจารณาจัดซื้อสินค้าจากบัญชีนวัตกรรมไทยก่อน

ดังนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข จึงได้พิจารณากำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขฯ ใหม่ โดยมีการแยกประเภทของแผ่นปิดกะโหลกศีรษะขึ้นมาจาก 1 รายการเป็น 4 รายการ ประกอบด้วย
1. อุปกรณ์กะโหลกศีรษะเทียม (Cranioplastic Implant) ในราคา 12,000 บาท โดยรายการนี้เป็นสิทธิประโยชน์เดิมที่มีอยู่แล้ว
2. แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจาก PMMA Plate การพิมพ์ 3 มิติ ราคา 25,000 บาท
3. แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม การพิมพ์ 3 มิติ Titanium Plate (Indirect printing) ราคา 27,000 บาท และ
4. แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม การพิมพ์ 3 มิติ Titanium Printing (Direct printing) ราคา 48,000 บาท และเสนอให้บอร์ด สปสช. พิจารณาอนุมัติในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้จำเป็นต้องใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะ 1,066 ราย/ปี

website 2869

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. พิมพ์ @nhso สอบถามข้อมูล

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด