วิสาขบูชา ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือ การบูชาในวันเพ็ญ เดือน 6 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือถ้าปีไหนที่มีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญเดือน 7 โดยในวันดังกล่าว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในทางพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ คือ เป็นวันคล้าย วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า
1. วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ใต้ร่มไม้สาละ โดยเมื่อประสูติแล้ว พระองค์เดินได้ 7 ก้าวก็มีดอกบัวมารองรับพระบาทไว้ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
2. วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หลังจากที่ออกผนวชได้ 6 ปี มีอายุได้ 35 พรรษา ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในตอนเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา โดยปัจจุบันสถานที่นั้นเรียกว่า พุทธคยา และหลังจากตรัสรู้แล้วทรงประกาศพระพุทธศาสนาขึ้น
3. วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อพระองค์ทรงเผยแพร่หลักธรรมคำสอนไปในที่ต่าง ๆ ทั่วชมพูทวีปเป็นเวลา 45 ปีแล้ว พระพุทธศาสนาได้ขยาย และเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน 6 ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ป่าสาละ
ทั้งนี้ วันวิสาขบูชาของทุกปี ชาวพุทธศาสนิกชน จะพร้อมใจกันประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงหลักธรรมคำสอน ของพระพุทธองค์ แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน ให้ทาน ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในช่วงเช้าหรือเพล บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้ยากไร้และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ รักษาศีล สำรวมระวังกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล 5 หรือ ศีล 8 พร้อมทั้งบำเพ็ญเบญจธรรมสนับสนุน เจริญภาวนา บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระ สวดมนต์และปฏิบัติสมาธิ และวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน เวียนเทียน การเวียนเทียนเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ในการนี้ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย