mobile-menu
search icon mobile
search on header

<p>

จำนวนผู้เข้าชม 20,889,868
</p>

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ก.คลัง เซ็นสัญญากู้ไจก้า วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเดือนละ 2 แสนล้าน

ตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องก.คลัง เซ็นสัญญากู้ วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเดือนละ 2 แสนล้าน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ ก.คลังเซ็นสัญญากู้ไจก้า วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเดือนละ 2 แสนล้าน ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ Mr. Morita Takahiro ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ได้ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan วงเงิน 50,000 ล้านเยน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินกู้แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งการกู้เงินในครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ซึ่งนับรวมในวงเงินที่ได้บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เงินกู้ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan ของรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน JICA วงเงิน 50,000 ล้านเยน (หรือเทียบเท่าประมาณ 13,432 ล้านบาท โดยคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันลงนามในสัญญา คือ 26.8647 บาท ต่อ 100 เยน) มีอายุเงินกู้ 15 ปี และมีระยะเวลาปลอดเงินต้น (Grace Period) 4 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ของยอดหนี้คงค้าง โดยในช่วง Grace Period จะมีการจ่ายดอกเบี้ยประมาณปีละ 1.3 ล้านบาท และภายหลังจาก Grace Period วงเงินที่ชำระดอกเบี้ยในแต่ละปีจะลดลงตามสัดส่วนเงินกู้คงค้าง

การกู้เงินจากรัฐบาลในครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คือ เพื่อใช้สนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การรักษาระดับการจ้างงานจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งนอกจากนี้ การกู้เงินต่างประเทศจะช่วยลดการแย่งชิงทรัพยากรทางการเงิน (สภาพคล่อง) จากตลาดการเงินในประเทศกับภาคเอกชน (Crowding Out) อีกทั้งยังเป็นแหล่งเงินกู้ที่มีระยะยาวและมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนเงินกู้จากแหล่งอื่น ซึ่งจะช่วยประหยัดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาขยายตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ ตามงบประมาณรายจ่ายชำระเงินกู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลมีภาระดอกเบี้ยทั้งหมด เท่ากับ 197,631.4389 ล้านบาท

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.pdmo.go.th หรือโทร. 02 265 8050

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การกู้เงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อใช้สนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณปีละ 1.3 ล้านบาท

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด